วันศุกร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2554

อันตราย’พลาสติก’ใช้ซ้ำ! ปรับพฤติกรรม…เลี่ยงโรคร้าย



ยังคงมีความเคลื่อนไหวให้ติดตามต่อเนื่องสำหรับการผลิตบรรจุภัณฑ์ในปัจจุบันที่อาจมีสารอันตรายต่อสุขภาพปนเปื้อนทำให้ผู้บริโภคต้องเพิ่มความระมัดระวัง ขณะเดียวกันการขาดความรู้ความเข้าใจ การนำมาใช้ไม่เหมาะสม ภัยเล็ก ๆ ที่มองข้ามกันไปเหล่านี้ก็มีความอันตรายไม่น้อยเช่นกัน!!
ตัวอย่างที่สำคัญคือ สารบีพีเอ หรือบิสฟินอลเอ สารที่นำมาใช้ในกระบวนการผลิตเป็นโพลีคาร์บอเนต วัตถุดิบที่ใช้ผลิตขวดนม ขวดน้ำดื่ม ของเล่นรวมถึงอุปกรณ์กีฬา อีกทั้งยังเป็นวัตถุดิบผลิตเรซิ่นสังเคราะห์สำหรับเคลือบกระป๋องอาหารและเครื่องดื่มต่าง ๆ สารนี้หากหลุดปนเปื้อนไปในนม หรือน้ำก็จะเข้าสู่ร่างกายโดยไม่รู้ตัวและอาจส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนเพศเอสโตรเจนทำให้เกิดความผิดปกติต่าง ๆ เช่น การเจริญเติบโตเข้าสู่วัยรุ่นก่อนวัยโดยเฉพาะในเด็กผู้หญิง โรคอ้วน โรคเบาหวาน มะเร็ง ที่ผ่านมาได้มีการแจ้งเตือน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์หลายประเทศรวมทั้งในหน่วยงานอาหารของไทยยืนยันว่า สารบีพีเอในขวดนมต่ำกว่าค่าที่จะเป็นอันตราย แต่อย่างไรก็ตามในประเทศแคนาดาประกาศไม่ให้ขวดนมมีสารนี้ปนเปื้อนและประเทศในยุโรปก็ประกาศเส้นตายไว้ปีหน้าเช่นเดียวกัน ขณะที่ภาชนะหลากหลายในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็น ขวดน้ำ แก้วน้ำ บรรจุภัณฑ์มากมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลาสติก การใช้อย่างเหมาะสมถูกวิธีสิ่งนี้มีความสำคัญโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผล การพิมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี ให้ความรู้ว่า การนำภาชนะพลาสติกมาใช้ใส่อาหาร สิ่งนี้เรียกว่า อยู่ไม่ไกลจากชีวิตประจำวันของเรา พลาสติก เป็นโพลิเมอร์สังเคราะห์ชนิดหนึ่งซึ่งโพลิเมอร์นั้นเป็นสารที่มีโครงสร้างทางเคมีประกอบด้วยหน่วย ย่อยซ้ำ ๆ แบ่งออกเป็น โพลิเมอร์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ อย่างเช่น ยางธรรมชาติ ฯลฯ และโพลิเมอร์สังเคราะห์สร้างขึ้นมาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่าง ๆ “พลาสติกที่นำมาใช้สำหรับเป็นภาชนะหีบห่อ อาหารมีด้วยกันหลายอย่างในชนิดที่คุ้นเคยกันก็จะมี Polyethy- lene terephthalate พลาสติกใส ชนิดนี้ใช้บรรจุน้ำดื่ม น้ำอัดลม น้ำผลไม้จะมีคุณ สมบัติใสกระจ่าง เหนียว ป้องกันความชื้น ฯลฯ อีกชนิดที่มีคุณสมบัติเหนียวยืดหยุ่น Low density poly- ethylene ซึ่งใช้เป็นถุงเย็น ฟิล์มห่ออาหาร ฯลฯ ส่วนอีกชนิด Poly propylene ซึ่ง มีความแข็งเหนียวทนความร้อน ชนิดนี้นำมาเป็นถุงร้อน บรรจุอาหารร้อน ภาชนะสำหรับไมโครเวฟ ซึ่งก็มีทั้งแบบใช้ซ้ำและใช้ครั้งเดียว เป็นต้น” การนำมาใช้จึงควรเลือกใช้อย่างเหมาะสมเนื่องจากพลาสติกจะสัมผัสกับเนื้ออาหารโดยตรง สัมผัสกับผู้ใช้ซึ่งอาหารที่มีความร้อน ความเย็น ความมัน ความเป็นกรดด่าง ฯลฯ คุณสมบัติเหล่านี้หากทำให้สารต่าง ๆ ในพลาสติกรั่ว ไหลออกมาและปนเปื้อน เข้าสู่ร่างกายผู้ใช้ก็จะได้รับอันตรายแบบเรื้อรัง ความห่วงกังวลในปัจจุบันตามที่มีการศึกษาวิจัยก็จะมีในเรื่องของ บีพีเอ สไตรีนและทาเลท ในประเทศไทย ขวดนม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขมีการระบุถึงกรณีที่ทำด้วยพลาสติกจะต้องเป็นชนิดโพลีคาร์บอเนตที่ทนความร้อนที่ใช้ต้มได้ มีความทนทานต่อการใช้งานได้หลายครั้งและต้องมีคุณภาพหรือมาตรฐานตามที่กำหนดไว้ ส่วนการใช้พลาสติกชนิดอื่นหรือวัสดุอื่นต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา “ขวดนมอาจจะทำจากพลาสติกอื่นได้อีก แต่ด้วยวัสดุดังกล่าวเป็นวัสดุที่มีความโดดเด่นโปร่งใส ทนความร้อนก็เลยนำมาใช้ แต่อย่างไรแล้วในต่างประเทศก็มีการศึกษาให้ความสนใจพิษภัยของบีพีเอซึ่งบ้านเราคงต้องทบทวนเรื่องนี้ นอกจากนี้ในการใช้ขวดนมทั่วไปที่มีอยู่ก็มีข้อควรระวัง อย่างเช่น การทำความสะอาดทุกซอกทุกมุม ด้วยน้ำยาที่เหมาะสมไม่เป็นพิษ ไม่เป็นกรดหรือด่างแรง ล้างออกให้หมด ตากให้แห้ง และต้มฆ่าเชื้อ หากใช้ไประยะหนึ่งแล้วพบว่าเปลี่ยนสภาพเปลี่ยนสีก็ไม่ควรใช้ต่อไป” นอกจากขวดนมสำหรับเด็กแล้ว ขวดน้ำพลาสติกโดยทั่วไปจะใช้กันเพียงครั้งเดียว วัสดุส่วนใหญ่ที่ใช้คือ โพลีเอททิลีน พลาสติกที่ใช้จะบางและไม่ทนต่อทั้งความร้อนและความเย็นแบบแช่แข็ง การใช้ที่ไม่เหมาะสมไม่ว่าจะเป็นการใช้ซ้ำ ๆ ทิ้งในที่ร้อน ๆ เก็บไว้ในรถที่จอดตากแดดนานหรือแม้แต่นำไปแช่ในช่องน้ำแข็ง จะทำให้พลาสติกเสียสภาพแตกร้าวทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็นเชื้อแบค ทีเรียสามารถแทรกซึมเข้าไปปนเปื้อนกับน้ำดื่มได้ ส่วนสารพิษจากสารทำให้พลาสติกอ่อนนิ่ม เช่น ทาเลท ยังไม่มีข้อมูลยืนยันอันตรายชัดเจนในขวดน้ำดื่ม อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องติด ตาม คือ สไตรีน สารต้นกำเนิดของโพลิสไตรีนเป็นพลาสติกที่นำมาใช้ทำโฟมใส่อาหารหรือแก้วน้ำแบบใช้ครั้งเดียว สารดังกล่าวอาจรั่วไหลสู่อาหารได้จากความร้อน กรดและอาหารที่มีไขมันสูง “ภาชนะโฟมที่นำมาบรรจุอาหาร กล่องโฟมที่ทำจากวัสดุดังกล่าวมีใช้กันอยู่ไม่น้อยและแม้จะมีการนำถุงร้อน ใบตองรองชั้นล่างแล้วใส่ของร้อน แต่ด้านบนส่วน ใหญ่จะไม่มีวัสดุใดปิดด้านบนเวลาปิดฝา ด้านบนก็จะได้ รับความร้อนเท่ากับด้านล่างซึ่งถ้าสังเกตจะเห็นว่าฝา ด้านในบุ๋มลงซึ่งก็หมายความว่าสารสไตรีนละลายลงในอาหาร สารดังกล่าวเมื่อสะสมนานวันก็จะทำลายสมอง ไขสันหลัง นอกจากนี้กระบวน การผลิตก็ต้องใช้ ซีเอฟซี ซึ่งเป็นสารทำลายโอโซน เพิ่มภาวะโลกร้อน ในหลายประเทศ มีความตื่นตัวในเรื่องดังกล่าว และมีการห้ามใช้ในบรรจุภัณฑ์อาหาร บ้านเราขณะนี้ก็มีวัสดุใหม่ ๆ อย่างเช่น ชานอ้อยเป็นทางเลือก” การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีมาตรฐานมีแหล่งผลิตที่ น่าเชื่อถือ รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ ทำความเข้าใจกับพลาสติก จึงเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยป้องกันหลีกไกลจากอันตราย เช่น ขวดน้ำควรเลือกใช้ในชนิดที่ออกแบบให้ใช้ได้หลายครั้งเป็นวัสดุที่มีความคงทน ส่วนที่ออกแบบมาเพื่อใช้ครั้งเดียวก็ควรใช้ครั้งเดียวไม่นำมาใช้ซ้ำควรนำไปรีไซเคิล นอกจากนี้ในการทำความสะอาดก็ควรให้ความสำคัญซึ่งในความไม่ปลอดภัยไม่เพียงเฉพาะ ภาชนะบรรจุภัณฑ์ ในเรื่องของความสะอาด หากละเลยก็อาจทำให้มีเกิดการเจ็บป่วยได้เช่นกัน ด้วยความเร่งรีบในการดำเนินชีวิต ความสะดวกสบายซึ่งอาจทำให้ละเลยถึงความสำคัญของบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารเรื่องใกล้ตัว การรู้ใช้อย่างเท่าทันเลือกใช้อย่างพิถีพิถัน รอบคอบก็น่าจะเป็นอีกทางออกของความปลอดภัยได้เป็นอย่างดี.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น