วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2555

พริกขี้หนูสด ลดการเสี่ยงโรคหัวใจ

พริกขี้หนูสด ลดการเสี่ยงโรคหัวใจ article
 โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุของการตายเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย และหลายประเทศทั่วโลกโดยสาเหตุส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม เช่น การกินอาหารที่มีไขมันสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน อาการทอด ผัดที่ใช้น้ำมันมากๆ ฯลฯ แต่กินอาหารพวกผัก ผลไม้ ธัญพืช ที่มีเส้นใยน้อยเกินไป
          ทั้งนี้รายงานการวิจัยพบว่าอาหารไทยเป็นอาหารสุขภาพ เพราะให้พลังงานและสารอาหารครบถ้วนและเหมาะสม นอกจากนี้ยังมีส่วนประกอบของสมุนไพรต่างๆ ซึ่งมีผลการศึกษาว่าสามารถช่วยลดการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ ได้ เช่น การลดไขมันในเลือด ป้องกันการเกิดอนุมูลอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพริกซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในอาหารไทยที่ช่วยเพิ่มลดชาติร้อนแรง ส่วนประกอบที่สำคัญที่ทำให้เกิดความเผ็ดของพริกก็คือ                “ แคปไซซิน ” ซึ่งนอกจากจะให้ความเผ็ดร้อนแล้วยังมีคุณสมบัติทางเภสัชวิทยา ช่วยบรรเทาให้อาการปวดกล้ามเนื้อและข้อ เพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร และที่น่าสนใจคือผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ยังพบว่าคนไทยที่กินพริกเป็นประจำมีอุบัติการณ์เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดน้อยกว่าคนในประเทศทางตะวันตก
           ด้วยเหตุนี้นางสาวพัชราณี ไชยทา นักศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาโภชนศาสตร์ (ซึ่งเป็นหลักสูตรร่วมระหว่างคณะแพทศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล) ได้ทำวิทยานิพนธ์ เรื่อง “ ผลของพริกขี้หนูต่อปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด” ภายใต้การดูแลของ ศ.นพ. สุรัตน์ โคมินทร์ หัวหน้าฝ่ายโภชนวิทยาและชีวเคมีทางการแพทย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นผู้ควบคุมวิทยานิพนธ์
           วิทยานิพนธ์ชิ้นนี้ได้ทำการศึกษาหญิงไทยจำนวน 50 คน ที่มีคุณสมบัติดังนี้คือ ระดับไขมันในเลือดสูง แต่มีสุขภาพโดยทั่วไปดี อายุระหว่าง 45 – 64 ปี และหมดประจำเดือนแล้ว แต่ไม่มีอาการของโรคเรื้อรังใดๆ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคตับ โรคไตโรคกระเพาะอาหาร ไม่ได้รับประทานยาเป็นประจำ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า ไม่ดื่มกาแฟมากกว่า 2 แก้วต่อวัน และไม่กินพริกมากกว่า 10 กรัมต่อวัน จากการศึกษาหญิงกลุ่มนี้พบว่าระยะการกินพริกขี้หนูมีผลดีต่อปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ การลดระดับน้ำตาลกลูโคส เพิ่มอัตราเผาผลาญของร่างกาย มีแนวโน้มชะลอแรจับกลุ่มของเกล็ดเลือด และเพิ่มการละลายลิ่มเลือดโดยมีผลภายใน 30 นาทีหลังจากาการกินพริกขี้หนูสด
          จึงนับว่าคนไทยโชคดีแล้วที่อาหารส่วนใหญ่อุดมไปด้วยพริก...แต่ควรกินแต่พอประมาณโดยเฉพาะคนที่เป็นโรคกระเพาะลำไส้

สุขภาพดีด้วยการบริจาคโลหิต

สุขภาพดีด้วยการบริจาคโลหิต   
   
       นอกจากความภูมิใจที่ได้แบ่งปันและช่วยเหลือผู้อื่นโดยทางอ้อมแล้ว เชื่อไหมว่าการบริจาคเลือด
ยังช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย เลือดประกอบด้วยพลาสมา (น้ำเหลือง)
และเม็ดเลือด คิดเป็น 8 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว คือ 5-6 ลิตรสำหรับผู้ชาย และ 4-5 ลิตรสำหรับผู้หญิง
หรือประมาณ 17-18 แก้วน้ำ ไขกระดูกเป็นอวัยวะตั้งต้นที่ทำหน้าที่สร้างเม็ดเลือด 3 ชนิด อันได้แก่
เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด เพื่อทำหน้าที่แตกต่างกันไปในร่างกาย
เม็ดเลือดแต่ละชนิดจะมีอายุการทำงานที่ชัดเจนคือ เม็ดเลือดแดงมีอายุ 120 วัน
เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดมีอายุ 5-10 วัน เมื่อถึงเวลาที่กำหนด เม็ดเลือดจะถูกทำลาย
และขับถ่ายออกมาในรูปของเหงื่อ ปัสสาวะ และอุจจาระ หลังจากนั้นไขกระดูกจึงสร้างเซลล์เม็ดเลือด
ชุดใหม่ขึ้นมาทดแทนได้โดยไม่มีวันหมด ปริมาณเลือดที่มีในร่างกายเป็นปริมาณที่ถูกสร้างขึ้นมา
ให้เกินกว่าความต้องการใช้ที่แท้จริง เพราะร่างกายต้องการใช้เพียง 15-16 แก้วน้ำเท่านั้น ส่วนเลือดอีก
2-3 แก้วน้ำเป็นปริมาณสำรองเพื่อรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน ดังนั้นการบริจาคเลือดซึ่งนำเลือดออกมา
ประมาณ 350-450 มิลลิลิตร จึงเป็นการนำเลือดสำรองออกมาโดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ แก่ร่างกาย
เพราะไขกระดูกจะสร้างเลือดขึ้นมาทดแทนปริมาณที่ถูกถ่ายเทออกไป ทำให้เกิดประโยชน์โดยทางอ้อมคือ
• ร่างกายได้เม็ดเลือดใหม่ ซึ่งแข็งแรงและทำงานได้มีประสิทธิภาพกว่า ทำให้เม็ดเลือดแดงลำเลียงออกซิเจน
  ได้เต็มที่ เม็ดเลือดขาวทำลายสิ่งแปลกปลอมได้ดีขึ้น และเกล็ดเลือดซ่อมแซมรอยฉีกขาดในร่างกายได้อย่าง
   มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
• กระตุ้นการทำงานของไขกระดูก เปรียบเหมือนการออกกำลังกายให้กับไขกระดูกได้ทำงานดีขึ้น
• ได้ตรวจสุขภาพทางอ้อม เพราะเมื่อมีการได้รับเลือดแล้ว ทางสภากาชาดจะต้องตรวจความสมบูรณ์ของเลือด
   ตรวจหาภาวะติดเชื้อต่างๆ เท่ากับผู้บริจาคได้รู้ภาวะสุขภาพของตนเองในขณะนั้นด้วย
• ลดความเสี่ยงโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน การวิจัยในประเทศฟินแลนด์พบว่า การบริจาคโลหิตช่วยลดความเสี่ยง
   โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันในเพศชายได้ถึง 88 เปอร์เซ็นต์ เพราะโรคนี้มีความสัมพันธ์กับปริมาณธาตุเหล็ก
   ที่สะสมในร่างกาย หากมีสะสมมาก โอกาสเสี่ยงย่อมสูง เนื่องจากธาตุเหล็กส่งผลให้ไขมันทำปฏิกิริยาออกซิเจน
   จนหลอดเลือดตีบและกลายเป็นอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน การบริจาคเลือดจึงช่วยให้ร่างกายลดภาวการณ์
    สะสมธาตุเหล็ก ซึ่งเท่ากับลดความเสี่ยงโรคหัวใจลงด้วยนั่นเอง การบริจาคเลือดทุก 3 เดือน จึงเป็นอีกหนึ่งโอกาส
   ที่จะช่วยให้คุณมีสุขภาพดีขึ้นได้ด้วยตนเอง

วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555

ครูเอื้อ สุนทรสนาน

  ครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นชาวจังหวัดสมุทรสงคราม เกิดที่ บ้านตำบลโรงหวี อำเภออัมพวา เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ.2453 (ตรงกับรัชสมัยของรัชการที่ 6) อยู่ในสกุล “สุนทรสนาน” อันเป็นสกุลพระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า เป็นบุตรของ นายดี และนางแส สุนทรสนาน มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน เดิมนั้นท่านมีชื่อว่า “ละออ” ต่อมา บิดาให้นามใหม่เป็น “บุญเอื้อ” และได้มาเปลี่ยนอีกครั้งในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็น “เอื้อ สุนทรสนาน


ภาพ เยี่ยมบ้านครูเอื้อ สุนทรสนาน
ที่มา mblog.manager.co.th

          วัยเด็กเรียนหนังสืออยู่ในจังหวัดบ้านเกิดอยู่ปีเศษพอ ที่โรงเรียนวัดใหม่ราษฎร์บูรณะ  ต่อมาในปี พ.ศ. 2460 บิดาได้พาย้ายเข้ากรุงเทพฯ โดยให้อาศัยอยู่กับหมื่นไพเราะพจมาน ผู้เป็นพี่ชายซึ่งรับราชการเป็นคนพากย์โขนในกรมมหรสพ เพื่อศึกษาต่อที่วัดระฆังโฆษิตารามจนจบชั้นประโยคประถมช่วงเวลานี่เอง เป็นระยะเวลาเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งโรงเรียนพรานหลวงขึ้น ที่สวนมิสกวัน ให้เป็นโรงเรียนสอนดนตรีทุกประเภททั้งดนตรีไทย และดนตรีฝรั่ง ครูเอื้อจึงเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนแห่งนี้  โดยมีพระเจนดุริยางค์เป็นอาจารย์ใหญ่ ท่านจึงได้ย้ายมาเรียนต่อที่โรงเรียนนี้ โดยช่วงเช้าเรียนวิชาสามัญ ช่วงบ่ายเรียนวิชาดนตรี เเต่หลังจากสอบมัธยมปีที่ 1 ผ่านขึ้นไปมัธยม 2 ในปี พ.ศ. 2465 ด้วยความมุมานะและพรสวรรค์ จึงสามารถเล่นเครื่องดนตรีได้จนชำนาญ โดยเฉพาะดนตรีฝรั่งอย่าง สีไวโอลิน   และเป่าแซกโซโฟน  พระเจนดุริยางค์เห็นว่า ครูเอื้อมีความสามารถพิเศษ จึงได้ให้เปลี่ยนเปลี่ยนมาเรียนวิชาดนตรีเต็มวัน และงดการเรียนวิชาสามัญตั้งแต่ชั้นมัธยม 2

          เมื่อจบหลักสูตรการศึกษาแล้ว ครูเอื้อได้เข้ารับราชการประจำในปี 2467 เป็นนักดนตรี ประจำกองเครื่องสายฝรั่งหลวง ที่กรมมหรสพ  กระทรวงวัง รับพระราชทานยศเป็น "เด็กชา" เงินเดือน 5 บาท ต่อมาเมื่อมีความชำนาญมากขึ้น ท่านจึงได้เลื่อนขึ้นไปเล่นวงใหญ่ในปี พ.ศ. 2469 มีเงินเดือนเพิ่มขึ้นเป็น 20 บาท อีก2 ปีต่อมาก็ได้รับพระราชทานยศ "พันเด็กชาตรี" และ "พันเด็กชาโท" ตามลำดับ  กระทั่งปี พ.ศ.2475 ได้โอนย้ายไปรับราชการที่กรมศิลปากร สังกัดกองมหรสพ ด้วยฝีมือทางดนตรีที่เปี่ยมล้น ทำให้เงินเดือนเพิ่มขึ้นเป็น 40 บาท และ 50  ในสมัยที่หลวงวิจิตรวาทการเป็นอธิบดีกรมศิลปากร ปี พ.ศ.2475 จากนั้นอีก 4 ปี ก็ได้มีโอกาสเข้าบรรเลงดนตรีประกอบเพลงในภาพยนตร์เรื่องนี้และได้ร้องเพลง "ในฝัน" แทนเสียงร้องของพระเอกในเรื่อง  "ถ่านไฟเก่า" อันเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่สร้างโดยบริษัทไทยฟิล์ม 'พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล, หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์, คุณพจน์ สารสิน และคุณชาญ บุนนาค ร่วมกันจัดตั้งบริษัทสร้างภาพยนตร์ไทยขึ้น ด้วยผลงานเพลงสร้างได้ชื่อได้รับความนิยมอย่างสูงนี่เอง ทำให้ครูเอื้อตั้งวงดนตรีของตนเองขึ้นในปีถัดมา ใช้ชื่อว่า ‘ไทยฟิล์ม’  ตามชื่อบริษัทหนัง นับว่านี่คือก้าวแรกทางเส้นทางดนตรีของครูเอื้อ  แต่จากนั้นเพียงปีเศษก็ต้องยุบวงลงไปพร้อมๆกับกิจการบริษัทไทยฟิล์มที่มีอัน เลิกกิจการไป


ภาพ วงดนตรีสุนทราภรณ์ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482 ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8
ที่มา www.snr.ac.th/

         และในปี  2482 เนื่องด้วยนายวิลาศ โอสถานนท์ อธิบดีในสมัยนั้น มองว่าเมื่อมีสถานีวิทยุของรัฐบาลแล้ว ก็ควรจะมีวงดนตรีประจำอยู่  ครูเอื้อ และวงดนตรีจึงได้โอนย้ายจากกรมศิลปากรมาอยู่ที่กรมโฆษณาการ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ มีครูเอื้อเป็นหัวหน้าวง และหัวหน้าแผนกบันเทิงต่างประเทศ  จนกระทั่งได้เกษียณอายุราชการในปี 2514 ทางกรมประชาสัมพันธ์ได้จ้างพิเศษให้ดำเนินตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญการดนตรีต่ออีก 2 ปี จนถึงปี พ.ศ.2516 ซึ่งเป็นปีที่ครูเอื้อได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ

           ด้านชีวิตครอบครัว ครูเอื้อพบรักกับ อาภรณ์ กรรณสูต ธิดาของพระยาสุนทรบุรี และคุณหญิงสะอิ้ง กรรณสูต เมื่อปี พ.ศ. 2480 และได้เข้าสู่พิธีสมรสเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 มีธิดาเพียงคนเดียวคือ อดิพร สุนทรสนาน (ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานน้ำสังข์สมรสจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับ ร.ต.อ. สันติ เสนะวงศ์) แต่ก็ยังมีบุตรชายสืบสกุลที่เกิดกับ โฉมฉาย อรุณฉาน คือ สุรินทร สุนทรสนาน

          ด้วยความทุ่มเทเเรงกายแรงใจในกับดนตรีตลอดชีวิต ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุด ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ในปี 2518 รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้รับพระราชทานโล่เกียรติยศในฐานะศิลปินตัวอย่างสาขาผู้ประพันธ์เพลงประจำ ปี 2523 และได้รับรางวัลแผ่นเสียง ทองคำพระราชทาน ถึง4 ครั้งอีกด้วย 

          นอกจากนี้ครูเอื้อก็มีสิ่งที่ปลาบปลื้มที่สุดในชีวิต นั้นก็คือ พระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ครูเอื้อได้รับพระราชทานเหรียญรูปเสมาทองคำที่มีพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. จากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันครบรอบ 30 ปี วงดนตรีสุนทราภรณ์ ในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2512 อีกทั้งได้รับพระราชทานดอกไม้เยี่ยมไข้ถึง 2 ครั้งระหว่างที่รักษาตัวจากอาการป่วยด้วยโรมะเร็ง และ วันที่ได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ ภูพานราชนิเวศน์  จังหวัดสกลนคร เพื่อขับร้องเพลง “พรานทะเล” ที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงโปรดถวายเป็นครั้งสุดท้ายของชีวิต ในปลายปี  2523


ภาพ เอื้อ สุนทรสนาน เข้าเฝ้า ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2523
ที่มา www.websuntaraporn.com 

         ในบั้นปลายชีวิต แพทย์ได้เอกซเรย์ตรวจพบก้อนเนื้อร้ายขนาดเท่าลูกเทนนิสที่บริเวณปอดด้านขวา ในปลายปี พ.ศ. 2521จึงได้เริ่มการรักษา แต่ก็ยังคงทำงานตามปกติ จนถึงปลายปี พ.ศ. 2522 มีอาการทรุดหนัก จึงเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาล แล้วก็กลับไปรักษาที่บ้านต่อ หลังจากรักษาตัวราว 3 ปี อาการของครูเอื้อก็ได้ทรุดลงเป็นลำดับ  สุดท้ายโรคมะเร็งที่ทรวงอก ก็พรากครูเอื้อ สุนทรสนาน ไปในวันที่ 1 เมษายน 2524 รวมอายุได้ 71 ปีเศษ

เนลสัน แมนเดลา

เนลสัน แมนเดลา

      เนลสัน โอลิห์ลาห์ลา แมนเดลา (Nelson Rolihlahla Mandela) ผู้ต่อสู้ยืนหยัดเพื่อความเสมอภาคของชนผิวสีอันนำไปสู่การได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ  และการได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ตามระบอบประชาธิปไตย 

         เนลสัน แมนเดลา เกิดที่เมืองทรานซ์คีย์ (Transkei) ประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ. 1918 สืบทายาทราชวงศ์เทมบูฝั่งซ้าย (Tembu Tribe) โดยเป็นบุตรชายของนายเฮนรี 
แมนเดลา (Henry Mandela) และได้รับชื่อ “เนลสัน” จากอาจารย์คนแรกของเขา  ทั้งนี้  เขาเป็นคนแรกของครอบครัวที่ได้รับการศึกษาในระบบโรงเรียน  เนลสันสำเร็จการศึกษาจากสถาบัน Clarkebury Boarding แล้วจึงศึกษาระดับปริญญาตรีด้านศิลปะศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Fort Hare และสำเร็จการศึกษาด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัย Withwatersrand ในปี ค.ศ. 1942   


         ในช่วงทศวรรษที่ 1940 นี้ พรรค National Party มีอำนาจทางการเมืองมากยิ่งขึ้นจากการชนะการเลือกตั้งในปี ค.ศ. 1948 และมีนโยบายเหยียดสีผิว (apartheid) อย่าง 
เข้มงวด  อันนำไปสู่การเคลื่อนไหวต่อต้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพรรคสมัชชาแห่งชาติ แอฟริกัน African National Congress (ANC) ซึ่งเนลสันได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1944  โดยการเคลื่อนไหวต่อต้านการเหยียดสีผิวอย่างไม่เป็นธรรมได้ปรากฏชัดเจนมาก ยิ่งขึ้นตลอดช่วงทศวรรษที่ 1940-1960  ทั้งในรูปแบบการรณรงค์ต่อสู้เรียกร้องอย่างเปิดเผยและการเคลื่อนไหวใต้ดิน   ทั้งการเคลื่อนไหวเรียกร้องอย่างสันติและการใช้กำลังเข้าปะทะ  ทำลายสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นสัญลักษณ์ของการแบ่งแยกสีผิว  

(ซ้าย)  เนลสัน แมนเดลา ในช่วงเวลาเปิดสำนักงานกฎหมายช่วยเหลือชาวผิวสี
 


          การต่อสู้เพื่อสิทธิและความเสมอภาคของชนผิวสีอย่างแข็งขันนี้ ได้ทำให้เนลสัน แมนเดลา มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น  อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวดังกล่าวก็ส่งผลให้ทางการเข้าจับกุมตัวเนลสัน  แมนเดลลา ในข้อหาพยายามล้มล้างรัฐบาล รวม 3 ครั้ง ด้วยกัน  คือ  ในปี ค.ศ. 1956  ค.ศ. 1962 และ ค.ศ. 1963 ตามลำดับ  พร้อม ๆ กับการจับกุมสมาชิกร่วมอุดมการณ์ของพรรค ANC บุคคลต่าง ๆ ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน 

           โดยการจับกุมเมื่อปี ค.ศ. 1963 ในครั้งนี้ รัฐบาลได้ควบคุมตัวเนลสันในเรือนจำที่เกาะ Robben Island Prison เป็นเวลา 18 ปี แล้วจึงย้ายไปยังเรือนจำ Pollsmoor  ซึ่งชื่อเสียงของเนลสัน แมนเดลา ตลอดระยะเวลาที่เขาถูกจองจำอยู่ในเรือนจำได้เป็นที่กล่าวขานมากยิ่งขึ้นทั้ง ในหมู่ชนภายในประเทศและในระดับนานาชาติในฐานะบุคคลผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งความ พยายามสร้างความเสมอภาคและการ 
ต่อต้านการเหยียดสีผิว  อันนำไปสู่กระแสกดดันรัฐบาลประธานาธิบดีโบทาในขณะนั้น ให้มีการปล่อยตัวเขาออกจากเรือนจำ 

เนลสัน แมนเดลา ในวันที่ก้าวออกจากเรือนจำ หลังจากถูกจองจำยาวนานกว่า 27 ปี 

            จวบจนปี ค.ศ. 1990  การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจากประธานาธิบดีปีเตอร์ โบทา (Pieter Willem Botha) สู่ประธานาธิบดี 
เฟรเดอริค เดอ เคลิร์ก (Frederik Willem de Klerk) ได้นำไปสู่การผ่อนคลายกฎหมายเหยียดสีผิว และการปล่อยตัวเนลสัน แมนเดลา ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1990  ซึ่งรวมเวลาการถูกจองจำได้ 27 ปี     โดยภายหลังการปล่อยตัว  พรรค ANC จัดการประชุม ANC’s National Conference ในปี ค.ศ. 1991 และสมาชิกพรรคได้เลือกให้นายแมนเดลา ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ANC    และ ในอีก 2 ปี 
ถัดมา คณะกรรมการรางวัลโนเบลได้มอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพให้แก่เนลสัน แมนเดลา จากการอุทิศตนเพื่อนำเสถียรภาพและความเสมอภาคมาสู่แอฟริกาใต้   โดยนายแมนเดลา ได้กล่าวสุนทรพจน์ในงานมอบรางวัลความตอนหนึ่งว่า “We will do what we can to contribute to the renewal of our world." 


           นายเนลสัน แมนเดลาได้รับเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่ง สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ในปี ค.ศ. 1994 ถือเป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของประเทศ  โดยเขาได้เปลี่ยนแปลงกฎหมายเหยียด 
สีผิวและชาติพันธุ์ต่าง ๆ รวมไปถึงการวางนโยบายปรับปรุงและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ  การปรับปรุงสาธารณสุขและสวัสดิการสังคมของประชาชน  ก่อนที่จะเกษียณอายุในปี ค.ศ. 1999  และริเริ่มโครงการพัฒนาสังคมต่าง ๆ ซึ่งความอุตสาหะและการอุทิศตนของนายเนลสัน แมนเดลา ได้ส่งผลให้เขาได้รับการสรรเสริญทั้งจากชาวแอฟริกาใต้และประชาคมนานาชาติจวบจนปัจจุบัน 

(ขวา)  เนลสัน แมนเดลา ขณะรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เมื่อปี 1993




วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2555

การทอดกฐิน

เรื่องการทอดกฐิน




เป็นประเพณีไทยที่สำคัญมาก เป็นพระราชพิธีใหญ่มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและอยุธยา ภาพเขียนพิธีกฐินมีการแห่ทั้งชลมารคและสถลมารคอยู่ที่ตู้พระไตรปิฎก วัดอนงคาราม และยังปรากฏในที่อีกหลายแห่ง

ในจดหมายเหตุของบาดหลวงเดอชัวลี ได้พรรณนาถึงกฐินหลวง ซึ่งงดงามโอ่อ่าที่สุด ในบรรดาพระราชพิธีทั้งหลายของกษัตริย์อยุธยา

ความหมายของกฐิน

๑ คำว่า "กฐิน" เป็นชื่อของสังฆกรรมชนิดหนึ่งในพระพุทธศาสนาที่ต้องใช้พระสงฆ์ร่วมเป็นพยานในการทำ ๕ รูปเป็นอย่างน้อย คือ ๔ รูป เป็นองค์สงฆ์หรือพยาน และอีก ๑ รูปเป็นองค์ครองผ้ากฐิน รวมเป็น ๕ รูป ภาษาสังฆ์กรรมของพระเรียกว่า "ปัญจวรรค"

๒. กฐิน แปลว่า สุก หมายความว่าผู้ที่จะรับกฐินได้ต้องบ่มตัวให้สุกเสียก่อน เมื่อถึงเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระสงฆ์อยู่จำพรรษา คือเดือน ๘ แรม ๑ ค่ำ พระภิกษุทั้งหลายจะต้องลงไปประชุมพร้อมเพรียงกันในพระอุโบสถ ไหว้พระสวดมนต์ แล้วทำพิธีอธิษฐานพรรษา ว่าข้าพเจ้าเข้าจำพรรษาตลอดไตรมาศ ๓ เดือน ในอาวาสหรือกุฎีหลังนี้ ตามคำอธิษฐานพรรษาทั้งสองประเภทนี้ หมายความว่าต้องตั้งใจไว้อย่างแน่วแน่ว่าจะไม่หนีไปค้างคืนวัดอื่นเลยตลอด ๓ เดือน และจะต้องนอนค้าง คือเฉพาะกุฏิของตัวเองเท่านั้นตลอด ๓ เดือน จะไปค้างคืนที่อื่นไม่ได้เป็นอันขาด ถ้าไปก็ต้องขาดพรรษา และต้องอาบัติทุกกฏ เว้นไว้แต่มีกิจจำเป็นตามพระวินัย ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ เรียกว่า สัตตาหะ คือให้ไปกลับได้ภายใน ๗ วัน เหตุจำเป็นนั้นคือ

๑) สหธรรมิก หรือมารดาบิดาเจ็บไข้ ไปเพื่อรักษาพยาบาล

๒) สหธรรมิก กระสันจะสึก ไปเพื่อระงับ

๓) มีกิจสงฆ์เกิดขึ้น เช่น วิหารชำรุดลงในเวลานั้น ไปเพื่อหาเครื่อง สัมภาระ มาปฏิสังขรณ์ซ่อมแซม

๔) ทายกต้องการจะบำเพ็ญบุญกุศล ส่งมานิมนต์ไปเพื่อบำรุงศรัทธา แม้ธุระอื่นนอกจากนี้ที่เป็นกิจลักษณะก็อนุโลมตามนี้ได้

ถ้าพระภิกษุรูปใด ไปด้วยเหตุที่ควรไปดังกล่าวมานั้นเกิน ๗ วันไปก็ดี หรือไปโดยไม่มีเหตุก็ดี พระภิกษุรูปนั้นขาดพรรษา ไม่ได้อานิสงส์พรรษาและไม่ได้อานิสงส์กฐิน ทั้งยังห้ามนับพรรษานั้นอีกด้วย

เพราะฉะนั้นคำว่า กฐิน จึงได้แปลว่า สุก เพราะผู้ที่เข้าจำพรรษาตลอดไตรมาศ เท่านั้นจึงจะรับกฐินได้ ถ้าพรรษาขาดก็รับไม่ได้ ผู้ที่เข้าจำพรรษา ชื่อว่าได้บ่มตัวให้สุกด้วยปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ตามสมควร แก่สติปัญญา และวาสนาบารมีของตนๆ เมื่อบ่มตัวให้สุกโดยทำนองนี้แล้ว จึงจะสมควรจะรับกฐิน ดังนั้นกฐินจึงได้แปลว่าสุก ดังกล่าวมา

๓. กฐิน แปลว่า แก่กล้า หมายความว่า พระสงฆ์ที่จะรับกฐิน กรานกฐินนั้นต้องแก่กล้าด้วยสติปัญญา มีความฉลาดสามารถที่จะรับผ้ากฐินได้ ต้องประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ

๑) รู้จักบุพกร คือ ธุระอันจะพึงทำในเบื้องต้นแห่งการกรานกฐิน ๗ อย่าง คือ ซักผ้า๑ กะผ้า๑ ตัดผ้า๑ เนาหรือด้นผ้าที่ตัดแล้ว๑ เย็บเป็นจีวร๑ ย้อมจีวรที่เย็บแล้ว๑ ทำกัปปะคือ พินทุ๑

๒) รู้จักถอนไตรจีวร

๓) รู้จักอธิษฐานไตรจีวร

๔) รู้จักการกราน

๕) รู้จักมาติกา คือ หัวข้อแห่งการเดาะกฐิน

๖) รู้จักปลิโพธิกังวล เป็นเหตุยังไม่เดาะกฐิน

๗) รู้จักการเดาะกฐิน

๘) รู้จักอานิสงส์กฐิน

และทายกทายิกา ผู้เป็นเจ้าภาพ ที่จะถวายกฐินก็ต้องมีศรัทธาแก่กล้าด้วยจึงจะทำได้ เพราะต้องลงทุนมากอยู่ คือจะต้องซื้อเครื่องอัฏฐบริขาร และเครื่องบริวารอีกมากมาย เพื่อถวายพระสงฆ์สามเณร ผู้อยู่จำพรรษาถ้วนไตรมาศ และถวายปัจจัยบำรุงวัดตามสมควร เพราะเหตุดังนี้ กฐินจึงได้แปลว่า แก่กล้า คือต้องแก่กล้าด้วยกันทั้งทายก และปฏิคาหก

๔. กฐิน แปลว่า แข็ง หมายความว่า ใจแข็ง คือพระสงฆ์ต้องมีกำลังใจอันเข้มแข็ง อดทน ต้องช่วยกันจัด ช่วยกันทำให้สำเร็จภายในวันนั้น และทายกก็ต้องมีใจแข็งระวังมิให้กิเลสครอบงำได้แก่ ละความตระหนี่ยินดีในทานการกุศล ให้ใจของตนแข็งแกร่ง อยู่ในเจตนาทั้งสามกาล คือ

๑) ก่อนแต่จะถวายก็ให้มีความดีใจ

๒) กำลังถวายอยู่ก็ให้มีความดีใจ

๓) ถวายเสร็จแล้วก็ให้มีความดีใจ ถึงแม้ว่าของจะแตกของจะหายก็จงระวังใจให้ดี อย่าให้ใจขุ่นได้แม้แต่น้อย ต้องพยายามรักษาเจตนาทั้งสามนี้ให้บริบูรณ์ จึงจะได้บุญมาก ได้อานิสงส์มาก ถูกต้องตามทำนองครองธรรมแท้ อาศัยเหตุดังนี้ กฐินจึงแปลว่า แข็ง

๕. นอกจากนี้คำว่า "กฐิน" เป็นชื่อของไม้ชนิดหนึ่งซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ขึงในเวลาเย็บจีวร ภาษาไทยเรียกว่า "ไม้สดึง" ภาษาบาลีใช้คำว่า "กฐิน" ขณะเดียวกันภาษาไทยได้ยืมภาษาบาลีมาเป็นภาษาของตัวเองโดยการเรียกทับศัพท์ไปเลยว่า ผ้ากฐินหรือบุญกฐิน

ในสมัยโบราณเย็บผ้าต้องเอาไม้สะดึงมาขึงผ้าให้ตึงเสียก่อน แล้วจึงเย็บเพราะช่างยังไม่มีความชำนาญเหมื่อนสมัยปัจจุบันนี้ และเครื่องมือในการเย็บก็ยังไม่เพียงพอ เหมือนจักรเย็บผ้าในปัจจุบัน การทำจีวรในสมัยโบราณจะเป็นผ้ากฐินหรือแม้แต่จีวรอันมิใช่ผ้ากฐิน ถ้าภิกษุทำเอง ก็จัดเป็นงานเอิกเกริกทีเดียว เช่นตำนานกล่าวไว้ว่า การเย็บจีวรนั้น พระเถรานุเถระต่างมาช่วยกัน เป็นต้นว่า พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ แม้สมเด็จพระบรมศาสดาก็เสด็จลงมาช่วย ภิกษุสามเณรอื่น ๆ ก็ช่วยขวนขวายในการเย็บจีวร อุบาสกอุบาสิกาก็จัดหาน้ำดื่มเป็นต้น มาถวายพระภิกษุสงฆ์ มีองค์พระสัมมาสัมพุทธะเป็นประธาน โดยนัยนี้ การเย็บจีวรแม้โดยธรรมดา ก็เป็นการต้องช่วยกันทำหลายผู้หลายองค์ (ไม่เหมือนในปัจจุบัน ซึ่งมีจีวรสำเร็จรูปแล้ว)

บุญกฐิน มีกำหนดทำกันในระหว่างแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ สำหรับจุดประสงค์หลักของการทำบุญกฐินนั้น เพื่อที่จะให้พระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาแล้วได้ผลัดเปลี่ยนผ้าใหม่ โดยได้มีมูลเหตุของบุญกฐินปรากฎในกฐินขันธะแห่งพระวินัยปิฎก และฎีกาสมันตปาสาทิกา ไว้ว่า:-

สมัยหนึ่ง ได้มีพระภิกษุชาวเมืองปาฐาจำนวน ๓๐ รูป พากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ พระเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี ขณะนั้นวันจำพรรษาได้ไกล้เข้ามา พวกภิกษุเหล่านั้นจึงได้พากันจำพรรษาที่เมืองพระเชตวันมหาวิหาร ตลอดระยะเวลาสามเดือนที่จำพรรษาภิกษุเหล่านั้นมีความตั้งใจอยู่ตลอดเวลาว่าจะต้องไปเฝ้าพระพุทธเจ้าให้ได้ ครั้นพอ ออกพรรษาแล้ว พากันออกเดินทางกรำฝนทนแดดร้อนไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

ขณะฤดูฝนยังไม่ทันจะล่วงพ้นสนิท ทำให้พวกภิกษุชาวเมืองปาฐาเหล่านั้นมีจีวรเปียกชุ่มและเปื้อนด้วยโคลนตม พอไปถึงพระเชตวันมหาวิหารได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงเห็นใจในความยากลำบากของภิกษุเหล่านั้น จะไม่เอาไตรจีวรไปครบชุดก็ผิดวินัย เมื่อเอาไปก็ไม่สะดวกในการเดินทาง พระองค์จึงทรงประชุมสงฆ์ จึงทรงบัญญัติเรื่องกฐินขึ้น ความว่า ภิกษุอยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนแล้ว ทรงอนุญาตให้กรานกฐิน (รับกฐิน) เมื่อได้กรานกฐินแล้ว ให้ได้รับอานิสงส์ยกเว้นจากพระวินัย ๕ ข้อ คือ

๑) อยู่ปราศจากไตรจีวรได้ จะไปค้างคืนที่ไหน ไม่ต้องถือเอาไตรจีวรไปครบสำรับก็ได้ ไม่ต้องอาบัติ

๒) จะไปไหนมาไหน ไม่ต้องบอกลาก็ได้ ไม่ต้องอาบัติ

๓) ฉันคณะโภชน์ได้ ไม่ต้องอาบัติ

๔) เก็บอดิเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา

๕) จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้น เป็นของได้แก่พวกเธอทั้งได้โอกาสขยายเขตจีวรกาล ให้ยาวออกไปอีกจนถึงกลางเดือน

จึงอนุญาตให้หาผ้ากฐินหรือผ้าที่ขึงเย็บด้วยไม้สะดึงมาใช้เปลี่ยนถ่ายแทนผ้าเก่า ฝ่ายนางวิสาขามหาอุบาสิกาเมื่อได้ทราบถึงพุทธประสงค์แล้ว นางก็ได้นำผ้ากฐินไปถวายแด่พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน และนางได้เป็นคนแรกที่ได้ถวายผ้ากฐินในพระพุทธศาสนา

ประเภทของกฐิน โดยทั่วไปจะเป็นที่เข้าใจว่ากันว่ากฐินมี ๒ แบบ คือ "จุลกฐิน" และ "มหากฐิน"

๑. จุลกฐิน แปลว่า กฐินน้อย กฐินด่วน กฐินแล่น กฐินวัง คือใช้เวลาตระเตรียมน้อย ได้แก่ มีจำกัดเวลาว่า ต้องรีบทำในวันนั้นทอดวันนั้น ไม่มีเวลาให้ตระเตรียมล่วงหน้าไว้ และการตระเตรียมนั้นโดยมากนิยมเริ่มต้นตั้งแต่กรอเส้นด้ายบ้าง ตั้งแต่ทอเป็นผืนบ้าง ตั้งแต่การปลูกฝ้ายเก็บฝ้ายบ้าง เช่น เอาดอกฝ้ายที่เก็บไว้นานแล้วไปติดตามต้นฝ้ายที่สมมติขึ้น นำมากรอให้เป็นเส้น ทอให้เป็นผืน ตลอดจนให้ได้ถวายทันกำหนดเวลาในวันนั้น อย่างนี้เรียกว่า จุลกฐิน กฐินชนิดนี้นานๆ จะมีคนทำ เพราะความยุ่งยากและต้องใช้คนมาก ต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจกันจริงๆ ส่วนใหญ่จะนิยมทำกันในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการทอดกฐิน

วิธีทอดจุลกฐินนี้ มีปรากฏในหนังสือเรื่องคำให้การชาวกรุงเก่าว่า บางทีเป็นของหลวงทำในวันกลางเดือน ๑๒ คือ ถ้าสืบรู้ว่าวัดไหนยังไม่ได้รับกฐิน ถึงวันกลางเดือน ๑๒ อันเป็ฯที่สุดของพระบรมพุทธานุญาตซึ่งพระสงฆ์จะรับกฐินได้ในปีนั้น จึงทำผ้าจุลกฐินไปทอด มูลเหตุของจุลกฐินคงเกิดแต่จะทอดในวันที่สุดเช่นนี้ จึงต้องรีบร้อนขวนขวายทำให้ทัน เห็นจะเป็นประเพณีมีมาเก่าแก่ เพราะถ้าเป็นชั้นหลังก็จะเที่ยวหาซื้อผ้าไปทอดได้หาพักต้องทอใหม่ไม่" (จากวิธีทำบุญ ฉบับหอสมุด หน้า ๑๑๙)

๒. มหากฐิน แปลว่า กฐินใหญ่ คือ กฐินที่ใช้เวลาตระเตรียมไว้นาน หมายความว่า ทายกผู้เป็นเจ้าภาพนั้นจะเริ่มตระเตรียมจัดแจงแสวงหาสิ่งของมารวบรวมไว้ล่วงหน้านานเท่าไรก็ได้ มีของดีมีของมาก อย่างนี้เรียกว่า มหากฐิน แต่ก็เป็นที่นิยมทำกันเพราะมีความสะดวกพอสมควร

ประเภทของกฐินอีกอย่างหนึ่งคือ

๑. กฐินหลวง ได้แก่ กฐินอันเป็นส่วนของพระมหากษัตริย์ ที่ทรงพระราชศรัทธาถวายแด่พระสงฆ์ผู้จำพรรษาถ้วนไตรมาศ ในพระอารามหลวงทั้งมวล

๒. กฐินราษฎร์ ได้แก่ กฐินที่เป็นส่วนของข้าราชการ พ่อค้า ประชาราษฎร์ทั่วไป ซึ่งนำไปทอดถวายแด่พระสงฆ์ผู้อยู่จำพรรษาตลอด ๓ เดือน ในวัดราษฎร์นั้น

กฐินหลวงก็ดี กฐินราษฎร์ก็ดี เมื่อว่าโดยความมุ่งหมายทางพระวินัยแล้ว ก็ให้สำเร็จประโยชน์แด่พระสงฆ์เป็นอย่างเดียวกัน คือได้รับอานิสงส์ ๕ เท่ากัน

ใครเป็นผู้ทอดกฐิน?

ทายกผู้ทอดกฐินนั้น จะเป็นเทวดาก็ได้ มนุษย์ก็ได้ คฤหัสถ์ก็ได้ สหธรรมิกทั้ง ๕ คือ ภิกษุ ภิกษุณี สามเณร สามเณรีก็ได้ ผู้เดียวทอดก็ได้ หลายคนรวมกันเป็นเจ้าภาพทอด ซึ่งเรียกว่า กฐินสามัคคีก็ได้ ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่สงฆ์ผู้รับเหมือนกันหมด

องค์กฐินได้แก่อะไร? เพราะเหตุไร?
ได้แก่ ผ้าที่จัดขึ้นเพื่อเป็นผ้ากฐิน เพราะเป็นตัวการสำคัญกว่าบริขารอย่างอื่นๆ ในเครื่องกฐินนั้น ผ้ากฐินนั้นใช้ผ้าอย่างไหน ชนิดไหน ใช้ผ้าที่ยังไม่ได้ย้อมคือผ้าขาวก็ได้ ผ้าที่ย้อมแล้วก็ได้ ผ้าตัดสำเร็จรูปแล้วก็ได้ ผ้าที่ยังไม่ตัดสำเร็จรูปก็ได้ แต่ต้องพอที่จะทำไตรจีวร ผืนใดผืนหนึ่งได้

ในสมัยนี้ โดยมากใช้ผ้าที่สำเร็จรูปแล้วย้อมสีได้ที่ดีแล้ว ที่ใช้ผ้าขาวซึ่งไม่ได้ตัดให้สำเร็จรูปก็มี แต่น้อย แม้กฐินหลวงก็ใช้กันอยู่ทั้งสองอย่าง

กฐินมีอานิสงส์มาก เพราะได้อานิสงส์ทั้งภิกษุผู้ได้รับกฐินก็ได้อานิสงส์ ๕ คือได้รับยกเว้นจากพระวินัย ๕ ข้อ ยืดเวลาออกไปอีก ๔ เดือน คือ ไปถึงกลางเดือน ๔

๑. เป็นสังฆทาน คือต้องถวายแก่พระสงฆ์อย่างน้อย ๕ รูป และต้องเป็นสงฆ์ที่จำพรรษาครบ ๓ เดือนด้วย ต่ำ่กว่า ๕ รูป รับกฐินไม่ได้

เป็นสังฆกรรม พระสงฆ์ได้รับแล้วต้องนำผ้ากฐินเข้าไปในสีมา ( อุโบสถ) พระคู่สวดต้องสวดมอบผ้าให้แก่องค์ครอง ตามที่ปรึกษากันไว้แล้ว จึงจะสำเร็จเป็นผ้ากฐิน

๓. เป็นกาลทาน ต้องทอดให้ตรงกับเวลาตามที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้กฐินจะทอดได้เริ่มตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ก่อนนี้หรือหลังนี้ทอดไม่ได้

๔. แม้พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นเอกอัครพุทธศาสนูปถัมภ์ ก็ทรงถือเป็นราชประเพณีเสด็จไปบำเพ็ญกุศลพระราชทานผ้ากฐิน ณ พระอารามหลวง เป็นประจำทุกปี เรียกว่า กฐินหลวง บางครั้งก็เสด็จไปบำเพ็ญกุศล พระราชทานผ้ากฐินต้น ณ วัดราษฎร์

สรุปการทอดกฐินมีอานิสงส์มากมายหลายอย่าง หลายประการทั้งภพนี้และภพหน้า

๑. ในภพนี้ได้อานิสงส์ ดังนี้คือ

๑. ได้ช่วยกันจรรโลงพระพุทธศาสนาไว้ ให้ดำรงค์เสถียรภาพอยู่ตลอดกาลนาน

๒. ได้เพิ่มกำลังกายใจให้แก่พระสงฆ์ผู้เป็นศาสนทายาท สืบอายุพระพุทธศาสนาต่อไป

๓. ได้ถวายอุปการะ อุปถัมภ์บำรุงแก่พระภิกษุสามเณรเป็นมหากุศลอันสำคัญยิ่ง

๔. ได้สร้างต้นเหตุของความสุขไว้

๕. ได้สร้างรากเหง้าแห่งสมบัติทั้งหลายไว้

๖. ได้สร้างเสบียงสำหรับเดินทางอันกันดาลในวัฏฏสงสารไว้

๗. ได้สร้างเกาะสร้างที่พึ่งที่อาศัยอันเกษมแก่ตัวเอง

๘. ได้สร้างเครื่องยึดเหนี่ยวแห่งใจไว้

๙. ได้สร้างเครื่องช่วยให้พ้นจากความทุกข์นานาประการ

๑๐. ได้สร้างกำลังใจอันยิ่งใหญ่ไว้ เพื่อเตรียมตัวก่อนตาย

๑๑. ได้จำกัดมลทินคือ มัจฉริยะออกไปจากขันธสันดาน

๑๒. ได้บำเพ็ญสิริมงคลให้แก่ตน

๑๓. ได้สร้างสมบัติทิพย์ไว้ให้แก่ตน

๑๔. เป็นที่รักใคร่ชอบใจของคนทั้งหลาย

๑๕. มีจิตใจผ่องใสเบิกบาน

๑๖. ได้บริจาคทานทั้งสองอย่างควบกันไปคือ อามิสทาน และธรรมทาน

๑๗. ให้ได้อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ เป็นทาน

๑๘. ได้ฝังทรัพย์ไว้ในพระพุทธศาสนา คือทำทรัพย์ภายนอกให้เป็นทรัพย์ภายใน ซึ่งเรียกว่าอริยทรัพย์ คือทรัพย์อันประเสริฐ ๗ ประการ ได้แก่ ศรัทธา ศีล หิริ โอตัปปะ เสตะ จาคะ ปัญญา

๑๙. ชื่อว่ายึดถือไว้ได้ซึ่งประโยชน์ ๒ คือ ประโยชน์ภพนี้ ๑ ประโยชน์ภพหน้า ๑

๒. อานิสงส์ในภพหน้านั้นคือ

๑. เป็นคนมั่งคั่งสมบูรณ์มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก

๒. เป็นคนสวยน่าดู น่าเลื่อมใส

๓. มีบุตรภรรยา บ่าวไพร่ เป็นคนว่าง่ายสอนง่าย

๔. มีประโยชน์เต็มเปี่ยมในเวลาจะตายและตายไปแล้ว

๕. ได้ประสบพบเห็นแต่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ล้วนแต่ดีๆ

๖. ไม่มีภัยแก่โภคทรัพย์

๗. มีชื่อเสียงดี

๘. มีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

๙. เป็นพลาปัจจัยให้ได้สมบัติ ๓ ประการคือ มนุษย์สมบัติ ๑ สวรรค์สมบัติ ๑ นิพพานสมบัติ ๑