วันอาทิตย์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2554

ประวัติพระราชพิธีการเสด็จฯ กระบวนพยุหยาตราชลมารค


ยุคแรกเริ่มของกระบวนเรือ การเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์ไทยนับแต่บุราณกาลมา นอกจากการเสด็จฯทางบกที่เรียกว่า “พยุหยาตราสถลมารค” แล้ว ยังนับว่าการเสด็จฯ ทางน้ำ คือ “พยุหยาตราชลมารค” ก็เป็นเส้นทางการคมนาคมที่สำคัญยิ่งเช่นกัน ตั้งแต่ครั้งสุโขทัยเป็นราชธานีแรกของไทยเรา ก็ปรากฏว่า พระร่วงทรงใช้เรือออกไปลอยกระทง หรือพิธีจองเปรียง ณ กลางสระน้ำ พร้อมทั้งเผาเทียนเล่นไฟในยามคืนเพ็ญเดือนสิบสอง ครั้นต่อมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ซึ่งเป็นเมืองเกาะล้อมรอบไปด้วยแม่น้ำลดคลองมากมายหลายสาย ชีวิตความเป็นอยู่ริมน้ำของชาวกรุงเก่าจึงต้องอาศัยเรือในการสัญจรไปมาทั้งในเวลารบทัพจับศึกก็จะใช้กระบวนทัพเรือเป็นสำคัญ จึงปรากฏมีการสร้างเรือรบมากมายในกรุงศรีอยุธยา ยามบ้านเมืองสุขสงบว่างเว้นจากการงาน ชาวกรุงศรีอยุธยาก็หันมาเล่นเพลงเรือ แข่งเรือเป็นที่เอกเกริก โดยเฉพาะพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามเมื่อจะเสด็จฯ แปรพระราชฐานไปยังหัวเมืองต่าง ๆ หรือเสด็จฯ ไปทอดผ้ากฐินยังวัดวาอาราม ก็มักจะใช้เรือรบโบราณเหล่านั้นจัดเป็นกระบวนเรือที่ยิ่งใหญ่ ดังในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีกระบวนเรือเพชรพวง ซึ่งเป็นริ้วกระบวนเรือที่ยิ่งใหญ่มาก จัดออกเป็น ๔ สาย และริ้วเรือพระที่นั่งตรงกลางอีก ๑ สาย ใช้เรือทั้งสิ้นไม่น้อยกว่าร้อยลำ ระหว่างการเคลื่อนกระบวนพยุหยาตราก็มีการเห่เรือพร้อมเครื่องประโคมจนเกิดวรรณกรรมร้อยกรองที่ไพเราะยิ่ง คือ “กาพย์เห่เรือ” ของ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ในสมัยพระเจ้าบรมโกศ ตอนปลายกรุงศรีอยุธยา ซึ่งบรรยายถึงความงดงามและลักษณะของเรือในกระบวนพยุหยาตราชลมารคครั้งนั้น และบทเห่เรือนี้ก็กลายเป็นแม่แบบของการแต่งกาพย์เห่เรือมาจนเท่าทุกวันนี้ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเป็นกษัตริย์ที่ปรีชาสามารถมากพระองค์หนึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา บ้านเมืองในรัชสมัยนั้นจึงเจริญรุ่งเรืองมิใช่น้อย และเนื่องด้วยพระองค์มีการติดต่อสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศมากมาย ทั้งทรงสร้างเมืองละโว้หรือลพบุรีให็เป็นราชธานีรองจึงมีการเสด็จฯ โดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ขึ้นล่องตามแม่น้ำป่าสักอยู่เป็นเนืองนิจ และในบางโอกาสก็โปรดเกล้าฯให้จัดกระบวนเรือหลงงออกมารับคณะราชฑูต และแห่พระราชสาสน์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งประเทศฝรั่งเศส จากกรุงศรีอยุธยามายังเมืองลพบุรี ตามบันทึกของนิโคลาส แชว์แวส์ ราชฑูตฝรั่งเศสซึ่งเดินทางเข้ามาในประเทศไทยสมัยนั้น ได้บรรยายไว้ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์แห่งราชอาณาจักรสยาม” ถึงขบวนพยุหยาตราชลมารคของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชว่า “ไม่สามารถเทียบความงามกับขบวนเรืออื่นใดได้ เป็นขบวนเรือที่มโหฬาร มีเรือกว่าสองร้อยลำ โดยมีเรือพระที่นั่งพายเป็นคู่ๆ ไปข้างหน้า เรือพระที่นั่งนั้น ใช้ฝีพายของพวกแขนแดงที่ได้รับการฝึกพายมาจนชำนาญ ทุกคนสวมหมวก เสื้อ ปลอกเข่า ปลอกแขน มีทองคำประกอบ เวลาพายจะพายพร้อมกันเป็นจังหวะจะโคน พายนั้นก็เป็นทองเหมือนกัน เสียงพายกระทบกันเป็นเสียงประสานไปกับทำนองเพลงยอพระเกียรติของพระเจ้าแผ่นดิน…” ในปี พ.ศ. ๒๒๒๘ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงส่งลาลูแบร์เป็นราชฑูตเข้ามายังประเทศไทยพร้อมกับคณะบาทหลวงเยซูอิด ซึ่งมีบาทหลวงผู้หนึ่ง คือ กวีย์ ตาชาร์ด เป็นผู้บันทึกเหตุการณ์ไว้ในหนังสือเรื่อง “จดหมายเหตุการเดินทางสู่ประเทศสยาม” ในตอนหนึ่งเล่าถึงขบวนเรือที่ใช้ออกรับเครื่องราชบรรณาการว่า “…มีเรือบัลลังก์ขนาดใหญ่สี่ลำมา แต่ละลำมีฝีพายถึงแปดสิบคน ซึ่งเราไม่เคยเห็นเช่นนั้นมาก่อน สองลำแรกนั้นหัวเรือทำเป็นรูปเหมือนม้าน้ำปิดทองทั้งลำ เมื่อเห็นมันมาแต่ไกลในลำน้ำนั้นดูคล้ายกับมันมีชีวิตชีวา มีเจ้าหน้าที่กองทหารรักษาพระองค์สองนายมาในเรือทั้งสองลำเพื่อรับเครื่องราชบรรณาการของสมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ครั้นบรรทุกเสร็จแล้วก็ถอยออกไปลอยลำอยู่กลางแม่น้ำอย่างสงบเงียบ และตลอดเวลาที่ลอยลำอยู่นี้ไม่มีสุ้มเสียงใดเลยบนฝั่งและไม่มีเรือลำใดเลยแล่นขึ้นล่องในแม่น้ำ เป็นการแสดงความเคารพต่อเรือบัลลังก์หลวงแลเครื่องราชบรรณาการที่บรรทุกอยู่นั้น” บาทหลวงตาชาร์ดยังเขียนถึงขบวนเรือที่แห่พระราชสาสน์และเครื่องราชบรรณาการในวันที่เดินทางออกจากรุงศรีอยุธยาไปยังลพบุรีอีกว่า “ขบวนอันยืดยาวของเรือบัลลังก์หลวง ซึ่งเคลื่อนที่ไปอย่างมีระเบียบเรียบร้อยนี้มีจำนวนถึงร้อยห้าสิบลำผนวกกับเรือลำอื่น ๆ เข้าอีกก็แน่นแม่น้ำแลไปได้สุดสายตา อันเป็นทัศนียภาพที่งดงามหนักหนา เสียงเห่แสดงความยินดีตามธรรมเนียมนิยมของชาวสยาม อันคล้ายจะรุกไล่เข้าประกับข้าศึกนั้น ก้องไปทั้งสองฝั่งฟากแม่น้ำ ซึ่งมีประชาชนพลเมืองล้นหล้าฟ้ามืดมาคอยชมขบวนยาตราอันมโหฬารนี้อยู่” เข้าสู่สมัยรัตนโกสินทร์ ก่อนจะถึงสมัยรัตนโกสินทร์อันมีราชธานีอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา หรือที่มีนามว่า “กรุงเทพมหานคร” ในปัจจุบันนี้ พม่าได้เผาผลาญทำลายกรุงศรีอยุธยา รวมทั้งเรือรบโบราณและเรือพระราชพิธีที่งดงามไปแทบหมดสิ้น หลังจากนั้นเมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงกอบกู้เอกราชของชาติไทยคืนมาได้ ก็ทรงสร้างเรือขึ้นใหม่ทั้งชุด แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเรือที่ใช้ในการรบพุ่ง เพราะรัชสมัยของพระองค์เต็มไปด้วยการศึกสงคราม เมื่อปฐมบรบราชวงศ์จักรี คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้ทรงสร้างเรือขึ้นใหม่อีก ๖๗ ลำ ซึ่งมีทั้งเรือพระที่นั่ง เรือกระบวนปิดทอง เรือพิฆาต และเรือแซ ซึ่งเป็นเรือที่สำคัญๆ เป็นที่รู้จักมาจนเท่าทุกวันนี้ เช่น เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งไกรสรมุข เรือเอกชัยเหินหาว เรือเอกชัยหลาวทอง เรือครุฑเหินเห็จ เรือครุฑเตร็จไตรจักร เรือพาสีรังทวีป เรือสุครีพครองเมือง เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ เรือกระบี่ปราบเมืองมาร เรืออสุรวายุภักษ์ เรืออสุรปักษี เรือเสือทะยานชล เรือเสือคำรณสินธุ์ เรือแตงโม และเรืออีเหลือง เป็นต้น ในรัชกาลต่อๆ มาก็ยังมีการสร้างเรือเพิ่มขึ้นอีก คือ รัชกาลที่ ๒ ทรงสร้าง ๒ ลำ รัชกาลที่ ๓ ทรงสร้าง ๒๔ ลำ รัชกาลที่ ๔ ทรงสร้าง ๗ ลำ รัชกาลที่ ๕ ทรงสร้างเพียงลำเดียว และในสมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงสร้างอีก ๒ ลำ จากนั้นก็มิได้มีการสร้างเรือพระราชพิธีขึ้นอีกเลย เรือที่สำคัญๆ และตกทอดมาถึงปัจจุบันอันได้แก่ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช สร้างขึ้นครั้งแรกในรัชกาลที่ ๔ และมาสร้างขึ้นแทนลำเดิมอีกครั้งในรัชกาลที่ ๖ เรือเอนกชาติภุชงค์ สร้างในรัชกาลที่ ๕ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ สร้างขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๖ เรือพระราชพิธีในรัชกาลก่อนๆ คงตกทอดมาถึงรัชกาลปัจจุบันทั้งสิ้น แต่การเสด็จฯกระบวนพยุหยาตราชลมารคมิได้มีบ่อยครั้งนัก เนื่องจากเมื่อเกิดสงครามมหาเอเซียบูรพา อู่เรือพระราชพิธีที่คลองบางกอกน้อยถูกลูกระเบิดถล่มจนเรือเสียหายไปหลายลำ จากนั้นมาจึงมีการซ่อมแซมเรือ และโอนเรือพระราชพิธีจำนวน ๓๖ ลำ ให้กรมศิลปากรดูแลเก็บรักษาไว้ที่อู่เรือพระราชพิธี ปากคลองบางกอกน้อย และส่วนที่เหลืออีกราว ๓๒ ลำ เป็นพวกเรือดั้ง เรือตำรวจ เรือแซง กองทัพเรือคงเก็บรักษาไว้ สำหรับกระบวนพยุหยาตราที่มีในรัชกาลปัจจุบันนี้ ส่วนมากจะเป็นการเสด็จฯ ไปทอดผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม นอกจากนั้น ก็จะเป็นการเสด็จในพระราชพิธีสำคัญๆ เช่น เสด็จฯ กระบวนพยุหยาตราชลมารค เพื่อเป็นการเลียบพระนคร กระบวนพยุหยาตราชลมารคคราวงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ พ.ศ. ๒๕๐๐ การเสด็จฯ พยุหยาตราชลมารค ทอดผ้าพระกฐิณ ณ วัดอรุณราชวราราม พ.ศ. ๒๕๑๐, พ.ศ. ๒๕๓๐ และในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๒๐๐ ปี พ.ศ. ๒๕๒๕

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น