วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555

เนลสัน แมนเดลา

เนลสัน แมนเดลา

      เนลสัน โอลิห์ลาห์ลา แมนเดลา (Nelson Rolihlahla Mandela) ผู้ต่อสู้ยืนหยัดเพื่อความเสมอภาคของชนผิวสีอันนำไปสู่การได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ  และการได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ตามระบอบประชาธิปไตย 

         เนลสัน แมนเดลา เกิดที่เมืองทรานซ์คีย์ (Transkei) ประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ. 1918 สืบทายาทราชวงศ์เทมบูฝั่งซ้าย (Tembu Tribe) โดยเป็นบุตรชายของนายเฮนรี 
แมนเดลา (Henry Mandela) และได้รับชื่อ “เนลสัน” จากอาจารย์คนแรกของเขา  ทั้งนี้  เขาเป็นคนแรกของครอบครัวที่ได้รับการศึกษาในระบบโรงเรียน  เนลสันสำเร็จการศึกษาจากสถาบัน Clarkebury Boarding แล้วจึงศึกษาระดับปริญญาตรีด้านศิลปะศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Fort Hare และสำเร็จการศึกษาด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัย Withwatersrand ในปี ค.ศ. 1942   


         ในช่วงทศวรรษที่ 1940 นี้ พรรค National Party มีอำนาจทางการเมืองมากยิ่งขึ้นจากการชนะการเลือกตั้งในปี ค.ศ. 1948 และมีนโยบายเหยียดสีผิว (apartheid) อย่าง 
เข้มงวด  อันนำไปสู่การเคลื่อนไหวต่อต้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพรรคสมัชชาแห่งชาติ แอฟริกัน African National Congress (ANC) ซึ่งเนลสันได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1944  โดยการเคลื่อนไหวต่อต้านการเหยียดสีผิวอย่างไม่เป็นธรรมได้ปรากฏชัดเจนมาก ยิ่งขึ้นตลอดช่วงทศวรรษที่ 1940-1960  ทั้งในรูปแบบการรณรงค์ต่อสู้เรียกร้องอย่างเปิดเผยและการเคลื่อนไหวใต้ดิน   ทั้งการเคลื่อนไหวเรียกร้องอย่างสันติและการใช้กำลังเข้าปะทะ  ทำลายสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นสัญลักษณ์ของการแบ่งแยกสีผิว  

(ซ้าย)  เนลสัน แมนเดลา ในช่วงเวลาเปิดสำนักงานกฎหมายช่วยเหลือชาวผิวสี
 


          การต่อสู้เพื่อสิทธิและความเสมอภาคของชนผิวสีอย่างแข็งขันนี้ ได้ทำให้เนลสัน แมนเดลา มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น  อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวดังกล่าวก็ส่งผลให้ทางการเข้าจับกุมตัวเนลสัน  แมนเดลลา ในข้อหาพยายามล้มล้างรัฐบาล รวม 3 ครั้ง ด้วยกัน  คือ  ในปี ค.ศ. 1956  ค.ศ. 1962 และ ค.ศ. 1963 ตามลำดับ  พร้อม ๆ กับการจับกุมสมาชิกร่วมอุดมการณ์ของพรรค ANC บุคคลต่าง ๆ ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน 

           โดยการจับกุมเมื่อปี ค.ศ. 1963 ในครั้งนี้ รัฐบาลได้ควบคุมตัวเนลสันในเรือนจำที่เกาะ Robben Island Prison เป็นเวลา 18 ปี แล้วจึงย้ายไปยังเรือนจำ Pollsmoor  ซึ่งชื่อเสียงของเนลสัน แมนเดลา ตลอดระยะเวลาที่เขาถูกจองจำอยู่ในเรือนจำได้เป็นที่กล่าวขานมากยิ่งขึ้นทั้ง ในหมู่ชนภายในประเทศและในระดับนานาชาติในฐานะบุคคลผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งความ พยายามสร้างความเสมอภาคและการ 
ต่อต้านการเหยียดสีผิว  อันนำไปสู่กระแสกดดันรัฐบาลประธานาธิบดีโบทาในขณะนั้น ให้มีการปล่อยตัวเขาออกจากเรือนจำ 

เนลสัน แมนเดลา ในวันที่ก้าวออกจากเรือนจำ หลังจากถูกจองจำยาวนานกว่า 27 ปี 

            จวบจนปี ค.ศ. 1990  การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจากประธานาธิบดีปีเตอร์ โบทา (Pieter Willem Botha) สู่ประธานาธิบดี 
เฟรเดอริค เดอ เคลิร์ก (Frederik Willem de Klerk) ได้นำไปสู่การผ่อนคลายกฎหมายเหยียดสีผิว และการปล่อยตัวเนลสัน แมนเดลา ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1990  ซึ่งรวมเวลาการถูกจองจำได้ 27 ปี     โดยภายหลังการปล่อยตัว  พรรค ANC จัดการประชุม ANC’s National Conference ในปี ค.ศ. 1991 และสมาชิกพรรคได้เลือกให้นายแมนเดลา ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ANC    และ ในอีก 2 ปี 
ถัดมา คณะกรรมการรางวัลโนเบลได้มอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพให้แก่เนลสัน แมนเดลา จากการอุทิศตนเพื่อนำเสถียรภาพและความเสมอภาคมาสู่แอฟริกาใต้   โดยนายแมนเดลา ได้กล่าวสุนทรพจน์ในงานมอบรางวัลความตอนหนึ่งว่า “We will do what we can to contribute to the renewal of our world." 


           นายเนลสัน แมนเดลาได้รับเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่ง สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ในปี ค.ศ. 1994 ถือเป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของประเทศ  โดยเขาได้เปลี่ยนแปลงกฎหมายเหยียด 
สีผิวและชาติพันธุ์ต่าง ๆ รวมไปถึงการวางนโยบายปรับปรุงและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ  การปรับปรุงสาธารณสุขและสวัสดิการสังคมของประชาชน  ก่อนที่จะเกษียณอายุในปี ค.ศ. 1999  และริเริ่มโครงการพัฒนาสังคมต่าง ๆ ซึ่งความอุตสาหะและการอุทิศตนของนายเนลสัน แมนเดลา ได้ส่งผลให้เขาได้รับการสรรเสริญทั้งจากชาวแอฟริกาใต้และประชาคมนานาชาติจวบจนปัจจุบัน 

(ขวา)  เนลสัน แมนเดลา ขณะรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เมื่อปี 1993




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น