วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555

ครูเอื้อ สุนทรสนาน

  ครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นชาวจังหวัดสมุทรสงคราม เกิดที่ บ้านตำบลโรงหวี อำเภออัมพวา เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ.2453 (ตรงกับรัชสมัยของรัชการที่ 6) อยู่ในสกุล “สุนทรสนาน” อันเป็นสกุลพระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า เป็นบุตรของ นายดี และนางแส สุนทรสนาน มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน เดิมนั้นท่านมีชื่อว่า “ละออ” ต่อมา บิดาให้นามใหม่เป็น “บุญเอื้อ” และได้มาเปลี่ยนอีกครั้งในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็น “เอื้อ สุนทรสนาน


ภาพ เยี่ยมบ้านครูเอื้อ สุนทรสนาน
ที่มา mblog.manager.co.th

          วัยเด็กเรียนหนังสืออยู่ในจังหวัดบ้านเกิดอยู่ปีเศษพอ ที่โรงเรียนวัดใหม่ราษฎร์บูรณะ  ต่อมาในปี พ.ศ. 2460 บิดาได้พาย้ายเข้ากรุงเทพฯ โดยให้อาศัยอยู่กับหมื่นไพเราะพจมาน ผู้เป็นพี่ชายซึ่งรับราชการเป็นคนพากย์โขนในกรมมหรสพ เพื่อศึกษาต่อที่วัดระฆังโฆษิตารามจนจบชั้นประโยคประถมช่วงเวลานี่เอง เป็นระยะเวลาเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งโรงเรียนพรานหลวงขึ้น ที่สวนมิสกวัน ให้เป็นโรงเรียนสอนดนตรีทุกประเภททั้งดนตรีไทย และดนตรีฝรั่ง ครูเอื้อจึงเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนแห่งนี้  โดยมีพระเจนดุริยางค์เป็นอาจารย์ใหญ่ ท่านจึงได้ย้ายมาเรียนต่อที่โรงเรียนนี้ โดยช่วงเช้าเรียนวิชาสามัญ ช่วงบ่ายเรียนวิชาดนตรี เเต่หลังจากสอบมัธยมปีที่ 1 ผ่านขึ้นไปมัธยม 2 ในปี พ.ศ. 2465 ด้วยความมุมานะและพรสวรรค์ จึงสามารถเล่นเครื่องดนตรีได้จนชำนาญ โดยเฉพาะดนตรีฝรั่งอย่าง สีไวโอลิน   และเป่าแซกโซโฟน  พระเจนดุริยางค์เห็นว่า ครูเอื้อมีความสามารถพิเศษ จึงได้ให้เปลี่ยนเปลี่ยนมาเรียนวิชาดนตรีเต็มวัน และงดการเรียนวิชาสามัญตั้งแต่ชั้นมัธยม 2

          เมื่อจบหลักสูตรการศึกษาแล้ว ครูเอื้อได้เข้ารับราชการประจำในปี 2467 เป็นนักดนตรี ประจำกองเครื่องสายฝรั่งหลวง ที่กรมมหรสพ  กระทรวงวัง รับพระราชทานยศเป็น "เด็กชา" เงินเดือน 5 บาท ต่อมาเมื่อมีความชำนาญมากขึ้น ท่านจึงได้เลื่อนขึ้นไปเล่นวงใหญ่ในปี พ.ศ. 2469 มีเงินเดือนเพิ่มขึ้นเป็น 20 บาท อีก2 ปีต่อมาก็ได้รับพระราชทานยศ "พันเด็กชาตรี" และ "พันเด็กชาโท" ตามลำดับ  กระทั่งปี พ.ศ.2475 ได้โอนย้ายไปรับราชการที่กรมศิลปากร สังกัดกองมหรสพ ด้วยฝีมือทางดนตรีที่เปี่ยมล้น ทำให้เงินเดือนเพิ่มขึ้นเป็น 40 บาท และ 50  ในสมัยที่หลวงวิจิตรวาทการเป็นอธิบดีกรมศิลปากร ปี พ.ศ.2475 จากนั้นอีก 4 ปี ก็ได้มีโอกาสเข้าบรรเลงดนตรีประกอบเพลงในภาพยนตร์เรื่องนี้และได้ร้องเพลง "ในฝัน" แทนเสียงร้องของพระเอกในเรื่อง  "ถ่านไฟเก่า" อันเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่สร้างโดยบริษัทไทยฟิล์ม 'พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล, หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์, คุณพจน์ สารสิน และคุณชาญ บุนนาค ร่วมกันจัดตั้งบริษัทสร้างภาพยนตร์ไทยขึ้น ด้วยผลงานเพลงสร้างได้ชื่อได้รับความนิยมอย่างสูงนี่เอง ทำให้ครูเอื้อตั้งวงดนตรีของตนเองขึ้นในปีถัดมา ใช้ชื่อว่า ‘ไทยฟิล์ม’  ตามชื่อบริษัทหนัง นับว่านี่คือก้าวแรกทางเส้นทางดนตรีของครูเอื้อ  แต่จากนั้นเพียงปีเศษก็ต้องยุบวงลงไปพร้อมๆกับกิจการบริษัทไทยฟิล์มที่มีอัน เลิกกิจการไป


ภาพ วงดนตรีสุนทราภรณ์ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482 ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8
ที่มา www.snr.ac.th/

         และในปี  2482 เนื่องด้วยนายวิลาศ โอสถานนท์ อธิบดีในสมัยนั้น มองว่าเมื่อมีสถานีวิทยุของรัฐบาลแล้ว ก็ควรจะมีวงดนตรีประจำอยู่  ครูเอื้อ และวงดนตรีจึงได้โอนย้ายจากกรมศิลปากรมาอยู่ที่กรมโฆษณาการ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ มีครูเอื้อเป็นหัวหน้าวง และหัวหน้าแผนกบันเทิงต่างประเทศ  จนกระทั่งได้เกษียณอายุราชการในปี 2514 ทางกรมประชาสัมพันธ์ได้จ้างพิเศษให้ดำเนินตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญการดนตรีต่ออีก 2 ปี จนถึงปี พ.ศ.2516 ซึ่งเป็นปีที่ครูเอื้อได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ

           ด้านชีวิตครอบครัว ครูเอื้อพบรักกับ อาภรณ์ กรรณสูต ธิดาของพระยาสุนทรบุรี และคุณหญิงสะอิ้ง กรรณสูต เมื่อปี พ.ศ. 2480 และได้เข้าสู่พิธีสมรสเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 มีธิดาเพียงคนเดียวคือ อดิพร สุนทรสนาน (ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานน้ำสังข์สมรสจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับ ร.ต.อ. สันติ เสนะวงศ์) แต่ก็ยังมีบุตรชายสืบสกุลที่เกิดกับ โฉมฉาย อรุณฉาน คือ สุรินทร สุนทรสนาน

          ด้วยความทุ่มเทเเรงกายแรงใจในกับดนตรีตลอดชีวิต ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุด ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ในปี 2518 รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้รับพระราชทานโล่เกียรติยศในฐานะศิลปินตัวอย่างสาขาผู้ประพันธ์เพลงประจำ ปี 2523 และได้รับรางวัลแผ่นเสียง ทองคำพระราชทาน ถึง4 ครั้งอีกด้วย 

          นอกจากนี้ครูเอื้อก็มีสิ่งที่ปลาบปลื้มที่สุดในชีวิต นั้นก็คือ พระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ครูเอื้อได้รับพระราชทานเหรียญรูปเสมาทองคำที่มีพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. จากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันครบรอบ 30 ปี วงดนตรีสุนทราภรณ์ ในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2512 อีกทั้งได้รับพระราชทานดอกไม้เยี่ยมไข้ถึง 2 ครั้งระหว่างที่รักษาตัวจากอาการป่วยด้วยโรมะเร็ง และ วันที่ได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ ภูพานราชนิเวศน์  จังหวัดสกลนคร เพื่อขับร้องเพลง “พรานทะเล” ที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงโปรดถวายเป็นครั้งสุดท้ายของชีวิต ในปลายปี  2523


ภาพ เอื้อ สุนทรสนาน เข้าเฝ้า ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2523
ที่มา www.websuntaraporn.com 

         ในบั้นปลายชีวิต แพทย์ได้เอกซเรย์ตรวจพบก้อนเนื้อร้ายขนาดเท่าลูกเทนนิสที่บริเวณปอดด้านขวา ในปลายปี พ.ศ. 2521จึงได้เริ่มการรักษา แต่ก็ยังคงทำงานตามปกติ จนถึงปลายปี พ.ศ. 2522 มีอาการทรุดหนัก จึงเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาล แล้วก็กลับไปรักษาที่บ้านต่อ หลังจากรักษาตัวราว 3 ปี อาการของครูเอื้อก็ได้ทรุดลงเป็นลำดับ  สุดท้ายโรคมะเร็งที่ทรวงอก ก็พรากครูเอื้อ สุนทรสนาน ไปในวันที่ 1 เมษายน 2524 รวมอายุได้ 71 ปีเศษ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น