วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2554

กรมพระยาดำรงฯ "พระบิดาของมัคคุเทศก์ไทย"


หากกล่าวถึง “สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ” เชื่อว่าหลายต่อหลายคนคงนึกถึงผลงานของท่านในด้านประวัติศาสตร์และการบุกเบิกงานโบราณคดี โดยท่านได้ทรงนิพนธ์หนังสือต่างๆที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ไว้มากมาย จนได้รับการยกย่องให้เป็น “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย” สำหรับประวัติของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพนั้น ทรงเป็นพระโอรส พระองค์ที่ 57 ในสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาชุม พระสนมเอก เมื่อวันเสาร์ เดือน 7 แรม 9 ค่ำ ปีจอ ตรงกับวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2405 สมเด็จพระบรมชนกนาถ พระราชทานนาม พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร สมเด็จพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเริ่มเข้ารับราชกาล เป็นนักเรียนนายร้อยทหารบก กรมนายร้อย เมื่อปี พ.ศ.2418 ได้รับการสถาปนาเป็น กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เมื่อ วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2442 ในรัชกาลที่ 5 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับราชการในตำแหน่ง นายพลโทราชองค์รักษ์ และเป็นอธิบดีกระทรวงธรรมาธิการ เป็นเสนาบดีกระมรวงมหาดไทย เป็นราชฑูตพิเศษ เสด็จไปยุโรป 1 ครั้ง ครั้นภายหลังทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ เลื่อนขึ้นเป็นกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อ วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454 ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ เลื่อนเป็น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2472 เป็นอภิรัฐมนตรี และเป็นนายกราชบัณฑิตยสภา เมื่อปี ขาล พ.ศ.2469 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 พระองค์จึงละกิจการทั้งปวงเสด็จไปประทับที่หัวหิน ตามคำแนะนำของแพทย์ และต่อมาอีก 1 ปี ก็เสด็จไป ประทับที่ปีนัง จนกระทั่งเดือน ตุลาคม พ.ศ. 2485 ก็เสด็จกลับกรุงเทพ ฯ และสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2486 ด้วยพระหทัยหยุดทำงาน รวมพระชนมายุได้ 81 พรรษา นอกจากสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จะได้รับการยกย่องให้เป็น“พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย” แล้ว พระองค์ท่านยังได้รับการยกย่องให้เป็น"พระบิดาของมัคคุเทศก์ไทย" อีกด้วย เนื่องจากพระองค์ทรงโปรดเสด็จประพาสตามสถานที่ต่างๆ ในประเทศไทย พร้อมทั้งศึกษาศิลปวัฒนธรรมไทย วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ตลอดจนแสวงหาความรู้เรื่องวิชาการต่างๆ จนได้รับตำแหน่งหน้าที่เป็น Lord Program Maker หรือ ผู้จัดการแผนการเดินทางให้กับพระมหากษัตริย์ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เรื่องนี้ทรงเล่าไว้ในเรื่อง “เสือใหญ่เมืองชุมพร” ว่า “เพราะเหตุใด จึงโปรดให้ฉันเป็นผู้จัดการเสด็จประพาส เป็นเรื่องอันหนึ่งในประวัติของฉันเอง จะเล่าฝากไว้ตรงนี้ เมื่อ พ.ศ. 2432 (ร.ศ. 108) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ โปรดให้ฉันไปตามเสด็จเป็นมัคคุเทศก์ มีหน้าที่เป็นต้นรับสั่งกะการประพาสที่ต่างๆ ตลอดทางที่เสด็จไป ฉันสนองพระเดชพระคุณชอบพระหฤทัยสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง แต่นั้นมาจึงทรงพระกรุณาโปรดให้ฉันเป็นผู้จัดการเสด็จประพาส แต่ชอบเรียกกันเป็นคำแผลงภาษาอังกฤษว่า Lord Program Maker ตามเสด็จประพาสต่อมาเป็นนิตย์ จนตลอดรัชกาลที่ 5 และคงอยู่ในตำแหน่งนั้นสืบมาในรัชกาลที่ 6 อีก 3 ปี รวมเวลาที่ได้เป็นผู้จัดการเสด็จประพาสอยู่ 26 ปี จึงพ้นจากหน้าที่นั้น พร้อมกับถวายคืนตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย” “ถึงรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้กลับไปจัดการเสด็จประพาสถวายอีกเมื่อเสด็จเลียบหัวเมืองมณฑลพายัพอีกครั้งหนึ่ง และเมื่อเสด็จเลียบหัวเมืองภูเก็ตอีกครั้งหนึ่งจึงอ้างได้ว่า ได้รับราชการเป็นผู้จัดการเสด็จประพาสสนองพระเดชพระคุณมา 3 รัชกาล แต่เมื่อไปตามเสด็จครั้งหลังสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกลับต้องทรงระวังมิให้ฉันเหนื่อยเกินไป เพราะตัวฉันแก่ชราอายุเกือบ 70 ปีแล้ว ก็เป็นครั้งที่สุดซึ่งฉันได้จัดการเสด็จประพาสเพียงนั้น” ด้วยเหตุนี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงได้รับสมญานามว่า “พระบิดาของมัคคุเทศก์ไทย” และยังได้สถาปนาเอาวันคล้ายวันประสูติ 21 มิถุนายน เป็น “วันมัคคุเทศก์ไทย” ซึ่งทางสำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์กรุงเทพมหานคร(ททท.) ร่วมกับสำนักพระราชวัง พิพิธภัณฑ์และหอสมุดสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพ สมาคมรถท่องเที่ยวและบริการ สมาคมเรือไทย และมัคคุเทศก์อิสระ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อเทิดพระเกียรติ รำลึกถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติ 60 ปี สำหรับกิจกรรมในวันมัคคุเทศก์ไทย 21 มิถุนายนนี้ ได้นำเยาวชนจากบ้านราชวิถีและโรงเรียนเศรษฐเสถียรในพระราชูปถัมภ์จำนวน 160 คน ท่องเที่ยวเยี่ยมชมพระบรมมหาราชวัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พิพิธภัณฑ์และหอสมุดสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และล่องเรือชมทัศนียภาพริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในระหว่างวันรับประทานอาหารกลางวันในเรือภัตตาคารริเวอร์ไซต์ โดยจะมีมัคคุเทศก์อาชีพคอยให้ความรู้และความเพลิดเพลินตลอดเส้นทาง และได้จัดให้มีผู้แปลคำบรรยายของมัคคุเทศก์เป็นภาษษมือให้แก่เยาวชนจากโรงเรียนเศรษฐเสถียรในพระราชูปถัมภ์ในครั้งนี้ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น