วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

วันทะเลโลก (World Ocean Day)

ความเป็นมา

วันทะเลโลก หรือชื่อในภาษาอังกฤษว่า World Ocean Day เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2535 โดยความร่วมมือของกลุ่มประชาคมโลก (The Earth Summit) ที่เมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล และในปีนี้ ก็เป็นเวลากว่า 17 ปีแล้ว ที่คณะทำงานกลุ่มนี้ได้รวมตัวกันเพื่อเผยแพร่ความรู้และรณรงค์ส่งต่อไปยังประชาชนทั่วโลกผ่านเครือข่ายต่างๆ ที่มีอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก พร้อมกับจัดกิจกรรมร่วมกับองค์กรต่างๆ อาทิ อุทยานสัตว์น้ำ สวนสัตว์ โรงเรียน มหาวิทยาลัย และองค์กรอนุรักษ์ต่างๆ เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกให้คนทั้งโลกหันมาใส่ใจ ร่วมกันอนุรักษ์ท้องทะเล

สำหรับปี 2552 นี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับ สมาคมกรีนฟินส์ และ สยามโอเชี่ยนเวิลด์ ได้จัดงาน "วันทะเลโลก" ณ พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำสยามโอเชี่ยนเวิลด์ ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ถึงวันสำคัญทางสิ่งแวดล้อมสากล และเพื่อแสดงความเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์เรื่องดังกล่าว

ภายในงานมีการแสดงผลงานการออกแบบสื่อสร้างสรรค์ของผู้ส่งเข้าประกวด ในหัวข้อ ทะเลสวยใส ไร้ถุงพลาสติกและการเสวนาเรื่อง "วิกฤติขยะทะเลไทยซึ่งทำให้เราได้รับรู้ว่าเรื่อง "ขยะ" ในทะเลนี่มันเป็น "วิกฤติ" จริง ๆ นะ

จาก รายงานปี 2007 ของ COBSEA (Coordinating Body on the Seas of East Asia) ระบุว่ามีปริมาณขยะมากถึง 6.4 ล้านตัน/ปี (1,800 ตัน/วัน) โดยขยะ 8 ล้านตัน ถูกทิ้งลงสู่ทะเลทุกวัน และในจำนวนนั้นเป็น พลาสติกมากถึง 89% หรือมีขยะพลาสติกประมาณ 46,000 ชิ้น/ตารางไมล์ ซึ่งคิดเป็น 3 เท่าของปริมาณปลาที่จับได้เชียวนะ

ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาทางทะเลและทางด้านเคมี ได้วิจัยเกี่ยวกับการปนเปื้อนบริเวณชายฝั่งทะเล พบพลาสติกที่มีขนาดเล็กปนเปื้อนอยู่ทั่วไปทั้งในทะเลและบริเวณชายฝั่ง นอกจากนั้นยังมีขยะชิ้นใหญ่ ๆ ประเภท โฟม พลาสติก และเครื่องมือประมง เป็นจำนวนมาก ทำให้สัตว์เล็ก ๆ อย่าง เพรียงทะเลและหนอนทะเล ไปจนกระทั่งสัตว์หายากอย่าง วาฬ โลมา พะยูน หรือ เต่าทะเล ได้รับบาดเจ็บ พิการ หรือตาย เนื่องจากโดนขยะพันลำตัว หรือกินขยะต่าง ๆ เข้าไป

คุณกาญจนา อดุลยานุโกศล นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เล่าให้ฟังว่า เต่าะทะเลจำนวนมากที่เกยตื้นส่วนใหญ่มักจะมีขยะติดที่ครีบ ซึ่งไม่สามารถแกะหรือสลัดออกเองได้ เมื่อยิ่งว่ายน้ำก็จะยิ่งทำให้แน่นขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ครีบหรือขาหน้าขาด บางครั้งพบว่ามีเศษอวน เอ็นเล็ก ๆ ที่มีความคมพันคอเต่าจนขาดหรือตัดเส้นเลือดจนคอเกือบขาด และที่พบบ่อยที่สุดก็คือการที่ เต่าทะเลกินเศษโฟมหรือพลาสติกเพราะคิดว่าเป็นอาหารจนเข้าไปอุดตันลำไส้และตาย ในเวลาต่อมา

นอกจากนั้น ยังเคยพบว่ามี วาฬกินเศษพลาสติกเข้าไปหลายอย่าง ทั้งถุงดำ กล่องและขวดพลาสติก ถุงขนม หนักรวมกันถึง 1.6 กิโลกรัม หรือเมื่อเร็ว ๆ นี้พบโลมาปากขวดตายเพราะติดอวนทั้งผืนที่พันลำตัวจนทำให้โลมาไม่สามารถว่ายน้ำขึ้นมาหายใจได้

ในทะเลฝั่งอันดามันบริเวณจังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่ จะมีสัตว์ทะเลเหล่านี้มาเกยตื้นประมาณ 40 ตัว/ปี และพบว่า มากกว่า 70% เป็นสัตว์ทะเลที่บาดเจ็บและตายจากเศษอวน เครื่องมือประมง และขยะโดยเฉพาะพลาสติก นี่ยังไม่นับรวมสัตว์ทะเลที่ตายไปเพราะขยะแต่ไม่ได้เกยตื้นมาให้เห็นอีกด้วยนะ

ในปี พ.ศ. 2551 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ร่วมกับนักดำน้ำอาสาสมัครและองค์กรต่างๆ เก็บขยะทะเลได้จำนวน 22 ตัน จากแหล่งดำน้ำต่างๆ ทั่วประเทศ แต่นั่นก็ยังเทียบไม่ได้กับขยะปริมาณมากที่ยังคงถูกปล่อยทิ้งลงทะเล ซึ่งแม้จะตามเก็บกันเท่าไหร่ก็คงไม่มีวันหมดแน่นอน

หนทางในการแก้ปัญหาขยะจึงน่าจะพุ่งเป้าไปที่การ "ทิ้ง" มากกว่าการ "เก็บ" กล่าวคือ มีระบบการจัดการขยะที่ดีตั้งแต่บนบก ซึ่งจะส่งผลต่อการลดขยะในทะเลลงได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นระบบการจัดการจะดีเพียงใดก็อาจไม่มีประโยชน์ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากพวกเราทุกคน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น