ปี พ.ศ. 2428 ประเทศไทยมีรถเทียมม้า ซึ่งเรียกกันว่า "รถเมล์" และวิ่งตามเส้นทางเรือเมล์ที่มีอยู่ก่อนแล้ว แต่ให้บริการอยู่ประมาณ 2 ปี จึงเลิกกิจการเนื่องจากมีการนำรถรางเข้ามาใช้แล้ว
ปี พ.ศ. 2450 พระยาภักดีนรเศรษฐ หรือ นายเลิศ เศรษฐบุตร เริ่มกิจการรถเมล์ขึ้นอีกครั้ง ให้บริการระหว่าง สะพานยศเส (สะพานกษัตริย์ศึก) กับตลาดประตูน้ำ ซึ่งเป็นต้นทางเรือเมล์ของนายเลิศในคลองแสนแสบด้วย เส้นทางนี้ยังไม่มีรถราง กิจการรถเมล์จึงไปได้ดี
ปี พ.ศ. 2456 นายเลิศนำรถยี่ห้อฟอร์ดเข้ามาให้บริการ และขยายเส้นทางไปถึงบางลำพู ย่านการค้าที่สำคัญของยุคนั้น ขนาดของรถใกล้เคียงกับรถม้า มี 3 ล้อ มีที่นั่งเป็นม้ายาว 2 แถว และนั่งได้ประมาณ 10 คน ขณะวิ่งจะมีเสียงโกร่งกร่าง ผู้คนจึงเรียกกันว่า "อ้ายโกร่ง" แต่บางคนเรียกว่า "รถเมล์ขาวนายเลิศ" เนื่องจากตัวรถมีสีขาว และมีเครื่องหมายกากบาทสีแดงในวงกลม
ด้วยนโยบาย "สุภาพ ซื่อสัตย์ ประหยัด ทันใจ เอากำไรน้อย บริการผู้มีรายได้น้อย" ทำให้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น กิจการก็เติบโตขึ้นด้วย จึงมีการพัฒนาเป็นรถ 4 ล้อ ที่ออกแบบขึ้นเอง มีที่นั่ง 2 แถวด้านข้าง ขยายเส้นทางออกไปอีกหลายสาย และมีผู้ประกอบการรายอื่นเพิ่มขึ้นมา รวมแล้วประมาณ 30 ราย ให้บริการไปทั่วกรุงเทพฯ ตัวรถเมล์มีทั้งสีแดง เหลือง และเขียว
ปี พ.ศ. 2497 เริ่มมีการจัดระเบียบรถเมล์ โดยรัฐบาลออก พ.ร.บ. ขนส่ง ควบคุมให้ผู้ประกอบการต้องขอใบอนุญาตก่อนทำกิจการรถเมล์
ปี พ.ศ. 2518 รัฐบาลสมัยของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช (หม่อมน้อง) ให้รวมกิจการรถเมล์ในกรุงเทพฯ เป็นบริษัทเดียวกัน คือ บริษัทมหานครขนส่ง จำกัด ซึ่งอยู่รูปแบบของรัฐวิสาหกิจ โดยรัฐและเอกชนถือหุ้นพอๆ กัน ต่อมาในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2519 รัฐบาลสมัยของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช (หม่อมพี่) ได้ออกพระราชกฤษฎีการวมกิจการของ บริษัทมหานครขนส่ง จำกัด เข้ากับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม
กิจการรถเมล์ขาวนายเลิศ ที่ดำเนินการมาเป็นเวลา 70 ปี ในขณะนั้นได้รับสัมปทานเดินรถ 36 สาย มีจำนวนรถ 700 คัน และมีพนักงานถึง 3,500 คน จึงเลิกกิจการไปในปี พ.ศ. 2520 โดยอู่รถเมล์ขาวนายเลิศเดิม ได้กลายเป็นสถานที่ตั้งของโรงแรมปาร์คนายเลิศ ณ ถนนวิทยุ ในปัจจุบันนั่นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น