วันพุธที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2555

โบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่

จังหวัดเชียงใหม่มีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญหลายแห่ง บางแห่งอาจจะมีอายุการสร้างมากกว่าเมืองเชียงใหม่เสียอีก โบราณสถานและโบราณวัตถุส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา เช่น การสร้างวัด เจดีย์ วิหาร พระพุทธรูป กำแพงเมือง เป็นต้น โดยได้รับอิทธิพลจากอาณาจักรหริภุญชัยและอาณาจักรสุโขทัย

โบราณสถานที่สำคัญ

วัดเชียงมั่น


วัดเชียงมั่น ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ถนนราชภาคินัย ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ แต่เดิมเป็นพระราชวังหรือคุ้มหลวงที่ประทับของพญาเม็งราย ปฐมกษัตริย์แห่งล้านนาไทย เมื่อปี พ.ศ.1839 ก่อนที่พระองค์จะทรงสร้างเมืองเชียงใหม่ พระองค์ได้ยกรี้พลโยธา เข้ามาตั้งเป็นปฐมที่บริเวณวัดนี้มาก่อน เรียกกันในยุคนั้นว่า เวียงเหล็ก(หมายถึงความแข็งแรงมั่นคงประดุจเหล็ก) หลังจากที่พระองค์ได้ทรงสร้างเมืองเชียงใหม่เสร็จแล้วได้ทรงสร้างคุ้มหลวงเป็น อารามหลวงแห่งแรก และทรงสร้างพระเจดีย์ตรงที่ราชมณเฑียรหอประทับของพระองค์ แล้วทรงขนานนามวัดว่า วัดเชียงมั่น ภายในวัดจะมีวิหาร โบสถ์ ภายในโบสถ์มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่หลายองค์ สิ่งสำคัญที่อยู่ในโบสถ์ก็คือ ศิลาจารึกที่ได้จารึกเกี่ยวกับการสร้างเมืองเชียงใหม่ เรียกว่า จารึกวัดเชียงมั่น ซึ่งจารึกในปี พ.ศ.2124

วัดเชียงมั่นมีพระพุทธรูปที่สำคัญ 2 พระองค์ ปัจจุบันทางวัดได้สร้างวิหารประดิษฐานเอาไว้ และนำพระพุทธรูปทั้งสอง 2 ประดิษฐานในมณฑปที่สร้างเลียนแบบมณฑปสมัยพระเมืองแก้วคือ พระแก้วขาว(พระเสตังคมณี ) และพระศิลาปางทรมานช้างนาฬาคีรี

วัดนี้ได้ถูกทิ้งร้างไปในสมัยที่พม่าได้เข้ามาปกครองอยู่ จนกระทั่งถึงสมัยของพระยากาวิละ ได้บูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่งและอยู่ในความดูแลของเจ้านายฝ่ายเหนือเรื่อยมา จนถึงสมัยพระเจ้าอินทวโรรส ได้มีศรัทธาเลื่อมใสในธรรมยุติกนิกาย จึงได้เชิญพระภิกษุสงฆ์ธรรมยุติกนิกายจากวัดบรมนิวาสน์มาจำพรรษาที่วัดนี้เป็นแห่งแรกของเมืองเชียงใหม่ ต่อมาก็ขยายไปยังวัดเจดีย์หลวง

วัดเจ็ดยอด (วัดโพธาราม มหาวิหาร)


วัดเจ็ดยอด เป็นวัดที่ชาวเชียงใหม่รู้จักกันดี เป็นเพราะมีเจดีย์เจ็ดยอด ตั้งอยู่นอกเมืองใกล้กับถนนซูปเปอร์ไฮเวย์สายเชียงใหม่ ลำปาง

วัดเจ็ดยอด มีชื่อในอดีตอีกชื่อหนึ่ง คือ วัดโพธาราม มหาวิหาร ผู้ช่วยศาสตราจารย์นันทนา ปกป้อง กล่าวถึงประวัติวัดนี้ว่า เป็นวัดที่มีปัญหาเกี่ยวกับผู้สร้างอยู่หลายประเด็นด้วยกัน คือ ตาม ทฤษฎีของ Reinald Le May นักปราชย์ทางด้านโบราณคดีได้เสนอข้อคิดเห็นในข้อนี้ว่า พญาเม็งรายเป็นผู้สร้าง เหตุผลก็คือพญาเม็งรายเป็นกษัตริย์เชียงใหม่เพียงพระองค์เดียวที่เคยเสด็จไปเยือนพุกามถึง 2 ครั้ง ซึ่งที่เมืองพุกามนั้น มีเจดีย์ที่ชื่อว่า มหาวิหารโพธิแห่งเมืองพุกาม พระเจ้าติโลมินโล(กษัตริย์พม่าซึ่งขึ้นครองราชย์ประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 ) เป็นผู้ถ่ายแบบจากเจดีย์พุทธคยาได้สร้างขึ้นไว้ พญาเม็งราย ทรงเห็นแบบอย่างจึงได้ถ่ายแบบมาสร้าง

แต่ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ หรือพงศาวดารโยนก ได้ระบุเอาไว้ว่า พระเจ้าติโลกราช (พ.ศ.1985 พ.ศ.2030) เป็นผู้สร้างวัดนี้ขึ้นเพื่อฉลองพระพุทธศาสนาครบ 2000 ปี ในปี พ.ศ.1998 และพระราชทานนามว่า วัดโพธาราม มหาวิหาร เหตุที่ได้ชื่อนี้เพราะพระองค์ได้ต้นโพธิ์จากลังกามาปลูกไว้ในพระอาราม

นอกจากเจดีย์เจ็ดยอด ดังกล่าวแล้วสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ได้แก่พระวิหารกำแพง ซุ้มประตู(ประตูโขง) รวมทั้งลวดลายปูนปั้น ได้สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราช หลังสร้างเสร็จ โปรดเกล้าฯ ให้ทำการฉลองพระอารามนั้นเป็นการใหญ่

ประมาณ พ.ศ.2020 ได้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกเป็นครั้งแรกของประเทศไทย และเป็นครั้งที่ 8 ของโลก ในสมัยพระเจ้าติโลกราชโดยมีธรรมทินเถระ วัดป่าตาลเป็นประธานในการทำสังคายนา

ปี พ.ศ.2053 ในสมัยพระเมืองแก้ว มีการสร้างอุโบสถขึ้นด้านทิศตะวันออกมีขนาดเล็ก ด้านหลังอุโบสถเป็นจิตกาธานที่ถวายพระเพลิง พระเจ้าติโลกราช ก่ออิฐถือปูน มีลายปูนปั้นเหลืออยู่ตามเสาซุ้มประตูมีลวดลายสวยงามมาก

จิตกาธานนี้ถือเป็นของแปลก โดยปกติแล้ว การถวายพระเพลิงพระมหากษัตริย์ เขามักจะทำเป็นเมรชั่วคราวที่ประดับประดาเป็นรูปนกหัสดีลิงค์ รูปช้างเอราวัณบ้าง หรือรูปปราสาท เวลาเผาจะเผาพร้อมไปกับศพด้วย ซึ่งนับได้ว่าจิตกาธานแห่งนี้เป็น เมรุเผาศพที่ถาวรแห่งแรกของภาคเหนือ

ปัจจุบันทางกรมศิลปากรได้ขุดแต่งบูรณะบริเวณโดยรอบของวัดโพธาราม มหาวิหาร และได้จัดเป็น สวนประวัติศาสตร์ เพื่อให้เป็นอนุสรณ์แด่พระเจ้าติโลกราช และเป็นที่พักผ่อนของประชาชน ทำให้บริเวณนี้น่าดูชมยิ่งขึ้น

วิหารลายคำ วัดพระสิงห์


สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าเมืองแก้ว (พ.ศ.2038 พ.ศ.2068) และมาซ่อมแซมใหม่สมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 6 ในสมัยรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.2399 พ.ศ.2413) เป็นวิหารล้านนาที่มีความงามสมบูรณ์แบบที่สุด ภายในวาดภาพที่ฝาผนัง (มีอายุในสมัยรัตนโกสินทร์) เป็นเรื่องสุวรรณหงส์ และเรื่องสังข์ทอง นัยว่ามีการแข่งขันกันวาดภาพระหว่างช่างเมืองเหนือที่วาดภาพสังข์ทอง ส่วนทางด้านทิศใต้วาดเรื่องสุวรรณหงส์ ปัจจุบันนี้ได้มีการศึกษาภาพจิตรกรรมฝาผนังแห่งนี้โดยละเอียดแล้ว พบว่าเป็นช่างของภาคเหนือทั้งสองด้าน ด้านทิศเหนือเป็นฝีมือของ เจ็กเส็ง ด้านทิศใต้เป็นฝีมือของ หนานโพธา ด้านในมีแท่นประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ ที่ชาวเชียงใหม่นับถือว่าเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญและศักดิ์สิทธิ์ได้มาจากลังกา

ผู้ช่วยศวสตราจารย์นันทนา ปกป้อง ได้ให้ข้อคิดเห็นว่า จากลักษณะขององค์พระพุทธสิหิงค์แล้ว เป็นพระเชียงแสนรุ่นแรกนี่เอง หมายถึงเป็นสกุลช่างของชาวภาคเหนือ มิใช่เป็นพระพุทธรูปแบบลังกา ตามที่มีกล่าวไว้ในประวัติหรือป้ายที่แจ้งเอาไว้เหนือประตูทางเข้าเลย

หอธัมม์ (หอไตร)


ศาสนสถานที่ก่อสร้างเพื่อเก็บรักษาคัมภีร์ทางพุทธศาสนา พระเจ้ากาวิละ เจ้าหลวงเชียงใหม่ โปรดให้สร้างเมื่อ พ.ศ.2385 และได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ พ.ศ.2469 ด้วยพระราชศรัทธาในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม เป็นหอที่สมส่วนงดงาม มีสองชั้น ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ผนังตกแต่งด้วยปฏิมากรรมปูนปั้น เทวดา 16 องค์ ในอริยาบทการยืนที่แตกต่างกันบริเวณท้องไม้ประดับด้วยปูนปั้น รูปสัตว์หิมพานต์อยู่ในกรอบทรงสี่เหลี่ยม จำนวน 75 ตัว ประกอบด้วยสิงโตจีน มอง สิงห์ เงือก ช้าง กวาง กิเลน ปลา เหมราช คชสีห์ นกยูง เสือ และนรสิงห์

หอไตรชั้นบนสร้างด้วยไม้ ผนังด้สนข้างเป็นฝาไม้ เข้าลิ้นปิดทึบ ประดับกระจกเป็นรูปดอกจันทน์ 8 กลีบ และลายหม้อ ปูรณฆฏะ เหนือประตูมีซุ้มโขง มีลวดลายปูนปั้นประดับ

หอธัมม์ วัดพระสิงห์ เป็นหอไตรที่งดงามแห่งหนึ่งในเมืองเชียงใหม่ มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ศิลปกรรมและวัฒนธรรม

แจ่งและประตูเมือง

แจ่งศรีภูมิ

ศรีภูมิ แต่เดิมเรียกว่า สะหลีภูมิ หมายถึง ศรีของเมืองในอดีตใกล้มุม(แจ่ง) กำแพงเมืองนี้มีต้น นิโครธ (ไทร) ซึ่งถือเป็นสิริมงคลเป็นที่มาของเดชานุภาพ และความอุดมสมบูรณ์ของเชียงใหม่ มุมกำแพงนี้จึงได้ชื่อว่า แจ่งศรีภูมิ

ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ระบุไว้อย่างจัดเจนว่า พญาเม็งรายเริ่มก่อกำแพงเมืองที่มุมเมืองนี้ก่อน จึงนับว่าเป็นมุมเมืองที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ภายหลังเชียงใหม่ตกเป็นเมืองของพม่า ระหว่างปี พ.ศ.2101 พ.ศ. 2317 รวมเป็นเวลา 200 กว่าปี และเป็นเมืองร้างต่อมาอีก 20 ปี กำแพงเมืองจึงทรุดโทรมเป็นอันมาก ในสมัยพระเจ้ากาวิละ จึงมีการบูรณะกำแพงเมืองขึ้นใหม่ ส่วนทรากกำแพงที่ยังคงเหลืออยู่ในปัจจุบันตามมุมเมืองทุกด้านนั้น เป็นป้อมที่หน่วยศิลปากรที่ 4 อนุรักษ์ไว้

แจ่งก๊ะต้ำ

ก๊ะต้ำ คือเครืองดักสัตว์ชนิดหนึ่ง ในอดีตบริเวณแจ่งกำแพงเมืองด้านในเป็นที่ลุ่มมีคลองส่งน้ำมาจากแจ่งหัวลิน มาสิ้นสุดที่นี่ จึงมีสภาพเป็นหนองน้ำและมีปลาชุกชุม ชาวบ้านใช้ก๊ะต้ำจับปลา มุมกำแพงเมืองนี้จึงเรียกว่า แจ่งก๊ะต้ำ

แจ่งก๊ะต้ำ เป็นมุมเมืองที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมือง เยื้องโรงเรียนพาณิชยการเชียงใหม่ในปัจจุบัน

แจ่งกู่เฮือง

แจ่งกู่เฮือง หรือกู่เรือง หมายถึงที่บรรจุอัฐิของหมื่นเรือง ซึ่งเป็นผู้คุมขุนเครือ โอรสของพญาเม็งรายไว้ในเรือนขังบ้านหมื่นเรือง ระหว่าง พ.ศ.1864 - พ.ศ.1868 ป้อมที่แจ่งนี้บูรณะสมัยพระเจ้ากาวิละ ตั้งอยู่บริเวณทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ใกล้กับสวนสาธารณะหนองบวกหาดในปัจจุบัน

ความเป็นมาของแจ่งนี้ คือ เนื่องจากขุนเครือโอรสของพญาเม็งราย คิดกบฏชิงราชสมบัติจากพญาแสนภู (กษัตริย์ลำดับที่ 3 ในราชวงศ์เม็งราย) พญาแสนภูไม่ต่อสู่แต่หนีไปยังเมืองเชียงราย ซึ่งมีพระราชบิดาพญาไชยสงครามครองเมืองอยู่ พญาไชยสงครามให้ท้าวน้ำท่วมโอรสยกทัพมาปราบปราม และจับขุนเครือไปคุมขังที่มุมเมืองด้านนี้ และเรือนขังอยู่ในบริเวณบ้านหมื่นเรือง ต่อมาหมื่นเรืองได้เสียชีวิต จึงอาจมีการสร้างกู่บรรจุอัฐิของหมื่นเรืองไว้บริเวณนี้

แจ่งหัวลิน

หัวลิน หมายถึง จุดเริ่มต้นของการรับน้ำ ด้วยการผ่านรางน้ำ (ลิน) ในอดีตแจ่งกำแพงนี้เป็นที่รับน้ำจากห้วยแก้ว เพื่อนำมาใช้ในเมือง จึงเรียกมุมกำแพงนี้ว่า แจ่งหัวลิน

ที่ตั้งอยู่บริเวณทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมือง จุดเริ่มต้นของถนนสายห้วยแก้ว

ประตูท่าแพ

ประตูท่าแพ เดิมเรียก ประตูเชียงเรือก เพราะอยู่ใกล้หมู่บ่านเชียงเรือก สร้างในสมัยพญาเม็งรายเมื่อแรกตั้งเมืองเชียงใหม่ พ.ศ.1839

ในอดีตชื่อประตูท่าแพนั้นเป็นชื่อ ประตูเมืองชั้นนอกประตูหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่แนวกำแพงดินหน้าวัดแสนฝาง สมัยพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ (พ.ศ.2416 พ.ศ.2439) เรียกประตูท่าแพว่า ประตูท่าแพชั้นนอก และเรียกประตูเชียงเรือกว่า ประตูท่าแพชั้นใน ภายหลังรื้อประตูท่าแพชั้นนอก หลือแต่ประตูท่าแพชั้นใน จึงเรียกกันสั้นๆ ทุกวันนี้ว่าประตูท่าแพ

ประตูท่าแพในปัจจุบันนี้จังหวัดเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่และกรมศิลปากรได้บูรณะขึ้นเมื่อ พ.ศ.2528 พ.ศ.2529

ประตูช้างเผือก

ประตูช้างเผือกสร้างในสมัยพญาเม็งรายเมื่อแรกตั้งเมืองเชียงใหม่ พ.ศ.1839 เดิมเรียก ประตูหัวเวียง เพราะถือกันว่า หัวของตัวเมืองเชียงใหม่อยู่ทางด้านนี้ ในพิธีราชาภิเษกกษัตริย์เชียงใหม่จะเสด็จเข้าเมืองทางประตูหัวเวียง รัชสมัยพญาแสนเมืองมา (พ.ศ.1928 พ.ศ.1944) มีการสร้างอนุสาวรีย์ช้างเผือกขึ้นทางทิศเหนือของประตู ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นประตูช้างเผือก ประตูนี้มีการบูรณะขึ้นใหม่ ในสมัยพระเจ้ากาวิละ และครั้งหลังสุด พ.ศ.2509 พ.ศ.2512

เหตุที่ต่อมาเรียก ประตูช้างเผือก เนื่องจากอิทธิพลของรูปปั้นช้างเผือก 2 เชือก ที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพญาแสนเมืองมา (กษัตริย์ลำดับที่ 9 ของราชวงศ์เม็งราย พ.ศ.1928- พ.ศ.1944) โดยมหาดเล็กชื่อ อ้ายออบและอ้ายยีระยา เพื่อเป็นเกียรติประวัติในคราวที่ช่วยเหลือพญาแสนเมืองมาให้รอดพ้นจากอันตรายจากการโจมตีกับกองทัพสุโขทัย ในครั้งนั้นมหาดเล็กทั้งสองได้ผลัดกันแบกพญาแสนเมืองมา เปรียบได้กับหน้าที่ของช้าง จึงได้รับปูนบำเหน็จ เป็นที่ขุนช้างซ้าย ขุนช้างขวา ขุนช้างทั้งสองตั้งบ้านเรือน อยู่ทางใต้เชียงโฉม ด้านตะวันออก

สำหรับรูปปั้นช้างเผือก 2 เชือก ที่ตั้งอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นรูปปั้นที่สร้างขึ้นใหม่ ในสมัยพระเจ้ากาวิละ และตั้งชื่อว่า ปราบจักรวาล กับปราบเมืองมาร เป็นรูปปั้นที่สร้างไว้ทางหัวเวียงนอกประตูช้างเผือก

ประตูเชียงใหม่

ประตูเชียงใหม่ เป็นประตูด้านใต้ สร้างในรัชสมัยพญาเม็งรายเมื่อแรกตั้งเมืองเชียงใหม่ พ.ศ.1839 เดิมใช้เป็นเส้นทางไปสู่เมืองลำพูน พระตูนี้บูรณะขึ้นใหม่สมัยพระเจ้ากาวิละประมาณ พ.ศ.2344 และสร้างขึ้นใหม่อีกครั้งระหว่าง พ.ศ.2509 พ.ศ.2512

ประตูเชียงใหม่ไม่มีหลักฐานทางเอกสารที่กล่าวถึงความเป็นมาของชื่อประตูเมือง พบว่าในปี พ.ศ.2358 เรียกชื่อประตูนี้ว่าประตูเชียงยืน เป็นระยะเวลาหนึ่ง โดยไม่ทราบเหตุผลที่เรียกเช่นนั้น

ศาสตราจารย์มณี พยอมยงค์ ให้ข้อสังเกตว่า อาจจะเป็นการตั้งชื่อเป็นที่ระลึกไว้ประตูหนึ่ง เป็นประตูนาเมือง เพราะทิศที่ตั้งประตูนี้เป็นทิศมนตรีเมือง

อาจารย์จินตนา มัธยมบุรุษ แสดงความคิดเห็นว่าก่อนที่พญาเม็งรายจะตั้งเมืองเชียงใหม่ พระองค์ครองเมืองอยู่ที่เวียงกุมกาม เมื่อย้ายจากเวียงกุมกามมาตั้งที่เมืองเชียงใหม่ ชื่อ เชียงใหม่ นี้แปลว่า เมืองใหม่ ผู้คนของเมืองทั้งสอง ก็จะเข้าเมืองทางประตูนี้จึงเรียกว่าประตูเชียงใหม่ เสมือนว่าพบประตูเชียงใหม่ ก็เท่ากับถึงเมืองเชียงใหม่แล้วนั่นเอง

ประตูแสนปุง

ประตูแสนปุง มีชื่อปรากฏหลักฐานครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2088 สมัยมหาเทวีจิระประภา แต่ไม่ทราบความหมายของชื่อนี้

ในสมัยพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ (พ.ศ.2416 พ.ศ.2439) มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ประตูสวนปุง ชาวเมืองใช้เป็นเส้นทางในการเคลื่อนศพออกจากตัวเมืองไปยังสุสาน ประตูนี้บูรณะขึ้นใหม่สมัยพระเจ้ากาวิละ ประมาณ พ.ศ.2344 และสร้างขึ้นใหม่ระหว่าง พ.ศ.2509 พ.ศ.2512

ประตูสวนดอก

ประตูสวนดอก สร้างขึ้นในรัชสมัยพญาเม็งราย เมื่อแรกตั้งเมืองเชียงใหม่ พ.ศ.1839 ด้านนอกประตูนี้เดิมเป็นสวนดอกไม้พญากือนา เมื่อ พ.ศ.1914 พระองค์สร้างวัดขึ้นในบริเวณสวนดอกไม้เรียกว่าวัดสวนดอก ประตูนี้จึงชื่อว่าประตูสวนดอก ซึ่งได้บูรณะขึ้นใหม่ในสมัยพระเจ้ากาวิละ และสร้างขึ้นใหม่อีกครั้ง พ.ศ.2509 พ.ศ.2512

อาจารย์ถิ่น รัติกนก ได้ให้ความเห็นว่าเป็น อุทียาสวนดอกพยอม ซึ่งปัจจุบันเหลือไม่กี่ต้นเท่านั้น (ปัจจุบันเมื่อมีการขยายถนนสุเทพ ได้มีการตัดออกไปและกลุ่มอนุรักษ์เรียกร้องไม่ให้ตัด ทางเทศบาลจึงย้ายต้นพยอมบางส่วนไปปลูกที่สวนหลวง ร.9 ) ในอดีตช่วงวันวิสาขบูชา ชาวเมืองจะเดินเท้าขึ้นไปนมัสการพระบรมธาตุดอยสุเทพและจะแวะเก็บดอกพยอมขึ้นไปด้วย

โบราณวัตถุที่สำคัญ

พระเสตังคมณี


มีชื่อเรียกสามัญว่า พระแก้วขาว เป็นพระพุทธรูปทำด้วนแก้วสีขาวขุ่น หินควอตไซท์ (หินเขี้ยวหนุมาน) ตามประวัติกล่าวว่า พระนางจามเทวีเป็นผู้นำมาจากเมืองละโว้ ตอนที่เสด็จมาครองเมืองลำพูน เมื่อคราวที่เมืองลำพูนได้เสียเมืองให้แก่พญาเม็งรายได้ทรงเห็นปาฏิหารย์ความศักดิ์สิทธิ์ ของพระพุทธรูปนี้ จึงได้ทรงศรัทธาเลื่อมใส นำมาเป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์ตลอดมา จนกระทั่งได้ทรงสร้างวัดเชียงมั่นขึ้นมาเป็นปฐมอารามของเมืองเชียงใหม่ จึงได้โปรดให้นำพระพุทธรูปองค์นี้มาประดิษฐานไว้ที่วัดนี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้

แต่มีระยะหนึ่งประมาณปีรัชกาลของพระไชยเชษฐาหรือเจ้าเชษฐวงศ์ (พ.ศ.2089 พ.ศ.2091) ซึ่งเป็นเชื้อสายของกษัตริย์เชียงใหม่ที่อยู่เมืองศรีสัตนาคุนหุต ได้นำเอาพระพุทธรูปที่สำคัญของเชียงใหม่หลายองค์ เช่นพระแก้วมรกต พระแก้วขาว พระพุทธสิหิงค์ ฯลฯ ไปบูชายังเมืองศรีสัตนาคุนหุต และย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เวียงจันทน์ ต่อมาเมื่อพม่าตีได้เมืองเชียงใหม่และเวียงจันทน์ จึงนำเอาพระแก้วขาวกลับมาไว้ที่วัดเชียงมั่นเหมือนเดิม เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเสด็จประพาสเมืองเชียงใหม่ ได้โปรดพระราชทานทองกาไหล่(เงินชุบทอง) หุ้มพระเศียรและฐานของพระแก้วขาวให้สูงขึ้นอีก พระแก้วขาวจัดเป็นพระพุทธรูปแบบเชียงแสนรุ่นหลัง (ศิลปล้านนา)

พระศิลาปางทรมานช้างนาฬาคีรี


เป็นพระพุทธรูปที่ทำด้วยหินชนวนสีดำ ฝีมือสกุลช่างปาละของอินเดีย (พุทธศตวรรษที่ 13 18) แกะสลักตามคติเดิมของอินเดีย เป็นพระพุทธรูปปางหนึ่งแสดงตอนที่ทรงแผ่เมตตาให้กับช้างนาฬาคีรีที่กำลังเมามันจะเข้ามาทำร้ายพระองค์ มีผู้สันนิษฐานว่า พระภิกษุชาวลังกาเป็นผู้นำเข้ามาถวายพญาเม็งราย พญาเม็งรายจึงโปรดให้ประดิษฐานไว้ที่วัดเชียงมั่น

พระพุทธสิหิงค์


มีตำนานตามพระราชพงศาวดาร กล่าวความว่ามีการสร้างในลังกา ต่อมาได้มาอยู่ในสุโขทัย สมัยพ่อขุนรามคำแหง เมื่อขุนหลวงพะงั่วแห่งกรุงศรีอยธยาตีเมืองสุโขทัยได้ จึงอัญเชิญมาไว้ ณ กรุงศรีอยุธยา ต่อมาท้าวมหาพรหมได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ ขึ้นไปถวายพญาแสนเมืองมาเจ้านครเชียงใหม่ ราว พ.ศ.1950 พระพุทธสิหิงค์ อยู่ที่เชียงใหม่ประมาณ 255 ปี ต่อมาสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตีเมืองเชียงใหม่ได้ โปรดให้เชิญมาไว้ที่กรุงศรีอยุธยาประดิษฐานในวัดพระศรีสรรเพชร จนเสียกรุงศรีอยุธยา

ถึงสมัยรัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์ เชียงใหม่เป็นเมืองขึ้นของไทย แล้ว พม่าล้อมเมืองเชียงใหม่ กองทัพหลวงไปช่วยรบตีทัพพม่าแตก จึงเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับมากรุงเทพ ประดิษฐานพระราชมณเฑียร 1 พระราชทานนามว่า พระที่นั่งพุทไธสวรรค์

พระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธรูปที่เป็นที่นับถือของคนไทยทั้งกรุงเทพ เชียงใหม่ และนครศรีธรรมราช ในปัจจุบันจึงปรากฏว่า มีถึง 3 องค์ด้วยกัน องค์หนึ่งอยู่ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร องค์หนึ่งอยู่ที่หอพระพุทธสิหิงค์นครศรีธรรมราช อีกองค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์เชียงใหม่

ลักษณะประจำพระอง๕ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ เป็นแบบสุโขทัย ส่วนที่นครศรีธรรมราช เป็นศิลปอยุธยา องค์ที่วิหารลายคำ วัดพระสิงห์เป็นศิลปแบบเชียงแสน รุ่นแรก จึงไม่มีลักษณะตามประวัติที่กล่าวว่าสร้างในลังกา สันนิษฐานว่าคงเป็นคนไทยคิดแต่งกันขึ้นมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น