ภาพจาก kidcyber |
ลิ่นเป็นสัตว์รูปร่างแปลกไม่เหมือนใคร ตัวเตี้ยติดดิน ขาสั้น หางยาว ปากยื่นยาวแหลม ลำตัวมีเกล็ดแข็งทั่วตัว ดูเผิน ๆ คล้ายสัตว์เลี้อยคลานจำพวกตะกวด แต่ความจริงลิ่นเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และเกล็ดของลิ่นก็คือขนที่แปรรูปไป ส่วนขนที่เป็นเส้นยังคงมีอยู่บางส่วน เช่นช่องระหว่างเกล็ด คาง และใต้ลำตัว
หางยาวของลิ่นใช้ทำหน้าที่เป็นอวัยวะยึดเกี่ยวได้ ปากของลิ่นไม่มีขากรรไกร หากินโดยการใช้ลิ้นที่ยาวถึง 25 เซนติเมตร แลบตวัดจับมดและปลวกเข้าปาก แต่ละมื้อลิ่นอาจกินปลวกมากถึง 200,000 ตัว ขามีอุ้งเล็บใหญ่ยาวและแข็งแรงมาก ใช้ตะกุยและทลายจอมปลวก ลิ่นมีหูเล็กมาก หนังหนา จึงป้องกันการโจมตีกลับของมดปลวกได้ดี เกล็ดแข็งและคมก็ช่วยป้องกันอันตรายจากศัตรูนักล่าชนิดอื่นได้ดี เมื่อถูกคุกคาม ลิ่นจะม้วนตัวเป็นก้อนกลม เก็บส่วนท้องและหัวที่เป็นจุดอ่อนไว้ด้านใน นอกจากนี้ยังสามารถกางเกล็ดออกเพื่อใช้เป็นอาวุธได้ด้วย ขอบเกล็ดของลิ่นจะคมมาก และยามวิ่งหนีจะวิ่งได้รวดเร็วเหลือเชื่อและวิ่งโดยเชิดขาหน้าขึ้นแล้ววิ่งด้วยสองขาหลังเท่านั้น
ลิ่นหากินตอนกลางคืน ปีนป่ายได้ดี และเคลื่อนไหวบนพื้นดินได้แคล่วคล่อง ตอนกลางวันจะพักผ่อนตามง่ามไม้ ในโพรง หรือในจอมปลวก อาศัยได้ในภูมิประเทศหลายชนิด ทั้งป่าทึบ ป่าชั้นสอง ทุ่งหญ้า หรือแม้แต่พื้นที่เกษตรกรรม พบในพม่า ไทย ลาวและเวียดนามตอนกลางและล่าง กัมพูชา คาบสมุทรมาเลเซีย เกาะสุมาตรา เกาะชวา และเกาะบอร์เนียว
ลิ่นออกลูกทีละตัว ตั้งท้องนาน 130 วัน ลูกลิ่นชอบเกาะอยู่ที่โคนหางแม่เวลาเดินทางไปไหนมาไหน เมื่อถูกคุกคาม แม่ลิ่นจะม้วนตัวห่อลูกไว้ข้างใน
ศัตรูตัวสำคัญของลิ่นก็คือคน เพราะลิ่นเป็นที่ต้องการของตลาดยาจีนและยาดอง นอกจากนี้ก็ยังเป็นอาหารประจำของเสือดาวและงูเหลือมอีกด้วย
สัตว์ในสกุลเดียวกับลิ่นมี 7 ชนิด 3 ชนิดอยู่ในเอเชีย 4 ชนิดอยู่ในแอฟริกา ในเมืองไทยมีสองชนิดคือ ลิ่น และลิ่นพันธุ์จีน (Manis pentadactyla)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น