วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

กระจงควาย


กระจงควาย Greater Mouse-deer
จาก Smithsonian National
Zoological Park

กระจงควายเป็นหนึ่งในกระจงสองชนิดที่พบในประเทศไทย เป็นสัตว์กีบที่เกือบเล็กที่สุดในโลก หนักเพียง 5-8 กิโลกรัม ลำตัวยาว 70-75 เซนติเมตร ความสูงที่หัวไหล่ 30-35 เซนติเมตร หัวเล็กเป็นรูปสามเหลี่ยม จมูกยื่นแหลม ตาโต ลำตัวกลมปุ๊กลุกเหมือนกระต่าย ข้างหลังสูงกว่าข้างหน้า ขายาวเรียว ลำตัวสีน้ำตาลอมส้ม ใต้ท้อง หน้าอก และคางสีขาว หน้าคอมีเส้นสีขาวหลายเส้น ไม่มีเขา หางยาว 8-10 เซนติเมตร ตัวผู้มีเขี้ยวบนยาวแหลมโผล่พ้นปากออกมา มีกระเพาะสามตอน

กระจงควายชอบอาศัยอยู่ในตามพื้นล่างของป่าทึบที่ใกล้แหล่งน้ำ พบในประเทศไทย อินโดนีเซีย ศรีลังกา คาบสมุทรมลายู สุมาตราและบอร์เนียว

กระจงควายหากินเวลากลางคืน รักสันโดษมาก ไม่ขี้ตื่นเท่ากระจงเล็ก กระจงจะเดินตามทางด่านของตัวเองที่ดูเหมือนอุโมงค์ผ่านไปตามพุ่มไม้ กินผลไม้สุกที่หล่นตามพื้น พืชน้ำ ใบไม้ ยอดไม้ และหญ้า มันหวงถิ่นมาก ทำเครื่องหมายเขตแดนด้วยขี้ เยี่ยว และต่อมกลิ่นที่อยู่ใต้คาง เมื่อตื่นเต้นหรือโกรธ ตัวผู้จะถีบพื้นดินด้วยความถี่ราวสี่ครั้งต่อวินาที ตัวเมียมักอาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวตลอด ส่วนตัวผู้มักย้ายถิ่นเสมอ

กระจงควายผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี ตัวผู้มีต่อมขนาดใหญ่ใต้กรามใช้ถูกับตัวเมียเมื่อต้องการดูว่าตัวเมียพร้อมผสมพันธุ์หรือยัง มีคาบการเป็นสัด 14 วัน ตัวเมียตั้งท้องนาน 152-155 วัน ออกลูกครั้งละ 1-2 ตัว ลูกแรกเกิดหนัก 373 กรัม หลังจากเกิดเพียงครึ่งชั่วโมงก็ยืนและเดินเหินได้อย่างคล่องแคล่ว แม่กระจงยืนสามขาขณะให้นม ลูกกระจงหย่านมได้เมื่ออายุ 8-12 สัปดาห์ และเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ได้เมื่ออายุ 4.5 เดือน

กระจงควายเป็นสัตว์ขยันทำลูกมาก ตัวเมียใช้ชีวิตผู้ใหญ่เกือบทั้งหมดไปกับการตั้งท้อง หลังจากที่ออกลูกได้เพียงชั่วโมงเศษก็เริ่มผสมพันธุ์ใหม่ได้แล้ว

ในแหล่งเพาะเลี้ยง กระจงควายมีอายุได้ถึง 16 ปี

ไอยูซีเอ็นประเมินสถานภาพของกระจงควายไว้ว่ามีความเสี่ยงน้อย (LC) ยกเว้นชนิดย่อย Tragulus napu nigricans ในเกาะบาลาบักที่ประเมินว่าอันตราย (EN) ชนิดย่อยนี้อยู่ในเกาะบาลาบักที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฟิลิปินส์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น